โค้งท้ายปลายปี 2564 ‘Sizzler’ เพิ่ม 5 เมนูหลักรับเทศกาล พร้อมเพิ่มเมนู “ของหวาน” ครั้งแรก “ไอศกรีม” 2 รสชาติและ “ทาร์ตไข่” ช่วยปั๊มยอดใช้จ่ายต่อบิลทั้งในร้านและเดลิเวอรี คาดรายได้ปีนี้ต่ำกว่าช่วงก่อน COVID-19 ราว 30% แต่ปี 2565 วางเป้ารายได้กลับเป็นปกติ หลังเปิดสาขาใหม่ 3 สาขาปลายปีนี้
บรรยากาศก่อนสิ้นปี 2564 ยังสุขไม่สุดหลังมีข่าวไวรัสกลายพันธุ์ “โอไมครอน” เป็นตัวแปรทำให้ผู้บริโภคกังวล การใช้ชีวิตนอกบ้านฟื้นตัวแต่ยังไม่เต็มที่ ทำให้ธุรกิจร้านอาหารต้องงัดทุกกลเม็ดมาดึงลูกค้า
“กรีฑากร ศิริอัฐ” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด ในเครือเดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการร้านอาหารแบรนด์ Sizzler เปิดเผยกลยุทธ์ช่วงปลายปีนี้ของร้านจะมีการเปิดเมนูพิเศษรับเทศกาลวันพ่อ คริสต์มาส และปีใหม่ รวมทั้งหมด 5 เมนูอาหารจานหลัก และจะมีเมนู “ของหวาน” แยกจากบนสลัดบาร์เป็นครั้งแรกของร้านทั้งหมด 3 เมนู
เมนูหลักรับเทศกาลจะเน้นอาหารทานง่ายเหมาะกับกลุ่มครอบครัว ตกแต่งสวยงามเหมาะกับช่วงเทศกาล ได้แก่ ล็อบสเตอร์ซอสไข่เค็มพร้อมสปาเก็ตตี้โอรีโอ้, สเต๊กปลาเทราต์, สเต๊กเนื้อพันเบคอน เสิร์ฟพร้อมกุ้งย่าง ซอสไวน์แดง, สเต๊กปลาเทราต์ลุยสวน และสเต๊กไก่ซูวีพร้อมเบรดพุดดิ้งและซอสไวน์แดง
ส่วนเมนู “ของหวาน” ประกอบด้วย ไอศกรีมช็อกโกแลตมูส, ไอศกรีมชีสโทสต์ และทาร์ตไข่ สไตล์มาเก๊า จำหน่ายในราคาโปรโมชัน 39-49 บาท
“นงชนก สถานานนท์” ผู้ช่วยรองประธานบริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด กล่าวต่อว่า ปกติแล้วเมนูในช่วงเทศกาลจะช่วยดันยอดการใช้จ่ายต่อบิลขึ้นประมาณ 30% และปีนี้มีเมนูซิกเนเจอร์พิเศษคือของหวาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มการใช้จ่ายได้อีก 40-50 บาทต่อคน
เป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจของ Sizzler ที่เพิ่มเมนูของหวานในเล่ม เพราะปกติสลัดบาร์จะมีของหวานที่เสิร์ฟมาอย่างยาวนานอย่างช็อกโกแลตมูสและเยลลี่อยู่แล้ว ทำให้การเพิ่มเมนูความหวานอาจเป็นความท้าทายในการดึงการใช้จ่ายของลูกค้า หรืออาจเป็นหมัดเด็ดในการสร้างความหลากหลายไม่จำเจ และทำให้ลูกค้า ‘นั่งต่อ’ ที่ร้านเพื่อทานของหวานก็ได้ ซึ่งนงชนกมองแนวโน้มว่าน่าจะเป็นอย่างหลัง เนื่องจากการคิดค้นไอศกรีมรสพิเศษก็มาจากแฟนคลับของร้านที่เรียกร้องเข้ามานานว่าร้านควรจะมีไอศกรีมเสิร์ฟปิดท้าย
- Sizzler ลดราคาเมนู Plant-based ดึงลูกค้ามาลองชิม ปรับรสชาติให้เป็น ‘สไตล์ไทย’ มากขึ้น
ไม่เฉพาะที่ร้านเท่านั้น เมนูของหวานของ Sizzler จะบริการผ่านเดลิเวอรีด้วย ซึ่งจะทำให้ร้านมีสินค้าครบทั้งคาวหวาน และเพิ่มยอดขายมื้อเบรกระหว่างวันได้จากของหวานอีกด้วย
2564 คาดปิดรายได้ต่ำกว่าช่วงก่อน COVID-19 ราว 30%
ด้านภาพรวมรายได้ของปีนี้ กรีฑากรกล่าวว่าบริษัทน่าจะทำรายได้ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิด COVID-19 อยู่ประมาณ 30% เนื่องจากมีช่วงที่ต้องปิดร้านนานหลายเดือน และปัจจุบันแม้กำลังซื้อจะฟื้นตัว แต่ยังไม่เต็มร้อย มองว่ายังมีผู้บริโภคที่กังวลกับการทานอาหารนอกบ้านอยู่พอสมควร
“ช่วงนี้ห้างฯ ยังเงียบเร็วมาก 2 ทุ่มเริ่มเงียบแล้ว จากสมัยก่อน 2 ทุ่มบางคนยังวนหาที่จอดรถอยู่เลย” กรีฑากรกล่าว
ปัจจุบันรายได้ 80% ของร้านมาจากการนั่งทานในร้าน (dine-in) และอีก 20% เป็นรายได้เดลิเวอรีและซื้อกลับบ้าน
กรีฑากรเปิดเผยว่า กลุ่มเดลิเวอรีถือว่ายังเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตได้ดี แม้ว่าหลังปลดล็อกดาวน์ยอดขายเดลิเวอรีจะลดลงเล็กน้อยราว 10% แต่เป็นการลดที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับการเติบโตตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ยอดขายเดลิเวอรีเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และเชื่อว่าผู้บริโภคจะยังนิยมการสั่งเดลิเวอรีอย่างต่อเนื่อง
- “สเวนเซ่นส์” กระตุกตลาด “ไอศกรีมเค้ก” เพิ่มไซส์เล็ก 1.5 ปอนด์ ทานได้ทุกวัน ไม่ใช่แค่เทศกาล
สิ้นปีมี 57 สาขา เปิดใหม่ 3 สาขาต่างจังหวัด
อัปเดตจำนวนสาขาปัจจุบันของ Sizzler ที่เปิดดำนการทั้งหมด 52 สาขา และสิ้นปีจะดำเนินการรวม 57 สาขา
โดยปีนี้ บริษัทมีการรีโนเวต 3 สาขา คือ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต, เซ็นทรัล เวสต์เกต และเดอะมอลล์ ท่าพระ (สองสาขาแรกเปิดดำเนินการแล้ว ส่วนเดอะมอลล์ ท่าพระจะเปิดพร้อมห้างฯ ในวันที่ 2 ธ.ค. นี้)
ภายในเดือนธันวาคมจะมีอีก 3 สาขาเปิดใหม่ คือ โรบินสัน สระบุรี, โรบินสัน ฉะเชิงเทรา และโรบินสัน ศรีสมาน เห็นได้ว่าการเปิดใหม่ปีนี้เน้นในต่างจังหวัด
นอกจากนี้ อีก 1 สาขาที่ยังปิดบริการชั่วคราวอยู่ คือ สาขามาบุญครอง เนื่องจากมีทราฟฟิกไม่เพียงพอ คาดจะกลับมาเปิดภายในสิ้นปีนี้ (ยังวางตำแหน่งบนชั้น 7 จุดเดิม)
รวมทั้งหมดสาขาของ Sizzler แบ่งสัดส่วน 55% อยู่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และ 45% อยู่ในต่างจังหวัด
ปี 2565 กลับเข้าเส้นทางปกติ เปิดใหม่ 3-5 สาขา
กรีฑากรกล่าวต่อถึงแผนปีหน้าของ Sizzler เชื่อว่าตลาดจะฟื้นตัวและบริษัทน่าจะกลับมาทำรายได้เทียบเท่าช่วงก่อน COVID-19
รวมถึงจะกลับมาเดินตามแผนการเปิดสาขา dine-in อย่างน้อยปีละ 3-5 สาขาต่อไป ขณะนี้มีที่เจรจาไว้แล้วบางส่วน จะเปิดทั้งในกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัดจำนวนเท่าๆ กัน
ส่วนโมเดลธุรกิจใหม่อย่างเดลิเวอรียังเติบโตได้ดี ปีหน้าจะได้เห็นการออกสินค้าใหม่เพิ่มในเมนู ขณะที่โมเดลร้านแบบ To-Go ที่เงียบเหงาไปบ้างเนื่องจากปกติตั้งอยู่ในโลเคชันคนทำงาน เช่น ตึกสำนักงาน สถานีรถไฟฟ้า เชื่อว่าจะกลับมาฟื้นตัว และบริษัทจะกลับมาโฟกัสการพัฒนากันใหม่
ด้านข่าวการระบาดของโอไมครอน และความเสี่ยงที่อาจจะมีการล็อกดาวน์เกิดขึ้นอีก กรีฑากรมองว่าบริษัทมีแผนรับมือแล้วหลังผ่านการล็อกดาวน์สองรอบ ทำให้ไม่กังวลมากนัก โดยบริษัทมีการสต๊อกวัตถุดิบลดลงเผื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน จะทำให้บริษัทปิดร้านได้เร็วโดยไม่เจ็บตัวจากสต๊อกเหลือมากนัก