เผยแพร่: ปรับปรุง:
กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีลอยกระทง ชวนคนไทยใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติ และปล่อยโคมลอยได้มาตรฐาน มผช. ร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และกระจายรายได้สู่ชุมชน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลลอยกระทงที่จะมาถึงนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมขอเชิญชวนคนไทยเลือกใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น กระทงเปลือกข้าวโพด ที่ได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ของไทย เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยให้คงอยู่ ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย BCG Model ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าแล้ว ยังเป็นการอุดหนุนสินค้าของคนไทย ช่วยกระจายรายได้ และกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจระดับชุมชนอีกด้วย
“กระทงจากเปลือกข้าวโพด เป็นสินค้าชุมชนที่ผลิตโดยผู้ผลิตชุมชน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ มผช. จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นสินค้าที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม มีความประณีต สวยงาม ไม่มีกลิ่นของสารเคมี สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และหากจะปล่อยโคมลอยควรได้มาตรฐาน มผช.ด้วย เพราะใช้วัสดุจากธรรมชาติ มีปริมาณเชื้อเพลิงไม่เกิน 55 กรัม ใช้เวลาในการเผาไหม้ไม่เกิน 8 นาที ซึ่งเหมาะสมกับระยะเวลาที่โคมลอยอยู่ในอากาศ และเมื่อตกลงมาสู่พื้นก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งให้ยึดถือปฏิบัติตามประกาศมาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยของส่วนราชการในพื้นที่อย่างเคร่งครัด” นายสุริยะกล่าว
นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตกระทงเปลือกข้าวโพดที่ได้มาตรฐาน มผช. อยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 4 ราย ได้แก่ 1) กลุ่มกระทงทรงธรรม 2) กลุ่มกระทงเปลือกข้าวโพดบ้านลานดอกไม้ 3) นางเตือนคนึง ราชา และ 4) นางวิรัตน์ ทวนธง และมีผู้ผลิตโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช. จำนวน 3 ราย ได้แก่ 1) นางอัมพร จันทร์ถา 2) นายจำลอง จันทร์ถา และ 3) นายยุทธภูมิ จันทร์ถา ซึ่งทั้ง 3 รายเป็นผู้ผลิตโคมลอยในจังหวัดเชียงใหม่ สมอ.จึงขอเชิญชวนประชาชนคนไทยร่วมกันสนับสนุนสินค้าไทย เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน สร้างความยั่งยืนให้แก่สินค้าชุมชนของไทย
“สำหรับการดำเนินงานด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน สมอ.ได้กำหนดมาตรฐานแล้วทั้งสิ้น 1,392 มาตรฐาน มีผู้ผลิตชุมชนได้รับการรับรองรวม 11,751 ราย แบ่งเป็น 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ อาหาร 1,457 ราย เครื่องดื่ม 220 ราย ผ้าและเครื่องแต่งกาย 4,003 ราย สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 811 ราย และของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก 5,260 ราย สามารถดูรายชื่อผู้ผลิตชุมชนที่ได้รับการรับรองได้ที่ https://tcps.tisi.go.th/public/certificatestandard.aspx ทั้งนี้ หากผู้ผลิตชุมชนต้องการยื่นขอการรับรองมาตรฐาน มผช. สามารถยื่นขอได้ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่าย” เลขาธิการ สมอ.กล่าวปิดท้าย