ในมหกรรมกีฬาแห่งชาวอาเซียน 2 หนหลังสุด ทีมกรีฑาไทยกลับพลาดท่า เสียตำแหน่งเจ้าเหรียญทองในชนิดกีฬานี้ให้กับเวียดนาม ซึ่งถือเป็นชาติที่พัฒนาแบบก้าวกระโดด
ไล่ตั้งแต่ซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ที่ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อปี 2017 ทีมกรีฑาไทยต้องกลับประเทศด้วยความชอกช้ำ เมื่อพ่ายให้กับเวียดนามแบบกระจุยกระจาย นอกจากจะเสียตำแหน่งเจ้าเหรียญทองแล้ว ยังได้เพียง 9 เหรียญทองเท่านั้น ในขณะที่ทัพกรีฑาญวน โกยไปถึง 17 เหรียญทองเลยทีเดียว
เท่านั้นยังไม่พอ ซีเกมส์ครั้งดังกล่าว ยังเสมือนเป็นเวทีแจ้งเกิด ของนักกรีฑาสายเลือดญวนหลายๆคน ไม่ว่าจะเป็นบนสังเวียนลู่หรือลาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เล ตู ชินห์ ลมกรดสาวแห่งนครโฮจิมินห์ ที่สร้างประวัติศาสตร์ กลายเป็นลมกรดสาวญวนคนแรก ที่คว้าเหรียญทองจากการวิ่งระยะสั้นครบทั้ง 3 อีเวนต์ ประกอบด้วย 100 เมตร, 200 เมตร และ ผลัด 4X100 เมตร
ถัดมาในซีเกมส์ 2019 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยหมายมั่นปั้นมือเป็นอย่างยิ่ง ที่แย่งตำแหน่งเจ้าเหรียญทองกลับมาให้ได้ แต่ก็ทำได้เพียงพระรองอีกหน หลังจากทำไปได้ 12 เหรียญทอง ขณะที่เวียดนามได้ไป 16 เหรียญทอง
นอกจากนี้ ทัพนักกรีฑาเจ้าภาพฟิลิปปินส์ ยังระเบิดฟอร์มทำผลงานได้ดีกว่าครั้งก่อนๆ ด้วยการคว้าไป 11 เหรียญทอง ทั้งๆที่ซีเกมส์ 2017 พวกเขาได้ไปเพียง 5 เหรียญทองเท่านั้น
ที่ผลงานดีขึ้นแบบผิดหูผิดตาขนาดนี้ นอกจากนักกรีฑาจากแดนตากาล็อก จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นแล้ว พวกเขายังมีการโอนสัญชาตินักกรีฑาจากชาติอื่นเป็นจำนวนหลายคนอีกด้วย จึงทำให้ภารกิจแย่งตำแหน่งเจ้าเหรียญทองซีเกมส์ของทัพกรีฑาไทย ต้องล้มเหลวไปอีกหน
พร้อมกับเป็นการตอกย้ำว่า คู่แข่งในย่านอาเซียนที่น่ากลัว ไม่ได้มีแค่เวียดนามเท่านั้น แต่ยังมีฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นมาอีก 1 ชาติ
ดังนั้น ตลอด 2 ปีเศษที่ผ่านมา นับตั้งแต่เสร็จสิ้นการแข่งขันซีเกมส์ 2019 สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีการซุ่มเก็บตัวอย่างขะมักเขม้น โดยหวังทวงบัลลังก์เจ้าเหรียญทองในชนิดกีฬากรีฑากลับมาอีกหน ในซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ซึ่งจะชิงชัยระหว่างวันที่ 14-19 พฤษภาคมนี้ บนผืนแผ่นดินเวียดนามก็ตาม
“แฝดเล็ก” พล.ต.ต.ศุภวณัฎฐ์ อาริยะมงคล ประธานพัฒนาเทคนิคและหัวหน้าผู้ฝึกสอนสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลกตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นักกีฬาจะไม่สามารถเดินทางไปแข่งขันในรายการต่างๆได้สะดวกเหมือนก่อนทว่าสมาคมฯได้มีเวลาเก็บตัวฝึกซ้อมนักกีฬาอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะนักกรีฑาสายเลือดใหม่ ที่พยายามผลิตขึ้นมาแทนรุ่นพี่ที่อยู่ในวัยใกล้ปลดระวางแล้ว
“อีกทั้งยังประจวบเหมาะกับการที่ศูนย์ฝึกกรีฑาแห่งชาติแห่งใหม่ ณ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ได้เสร็จพอดี จึงทำให้สมาคมกรีฑา ได้ซุ่มเก็บตัวฝึกซ้อม ณ ศูนย์ฝึกแห่งใหม่เป็นเวลานาน พร้อมกับได้จัดการแข่งขันภายในเพื่อทดสอบสถิติขึ้นมาหลายรายการด้วย”
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ทีมกรีฑาไทย ได้เจียระไนดาวรุ่งสายเลือดใหม่ ที่กลายเป็นเพชรเม็ดงามแห่งวงการหลายคน โดยเฉพาะ “เทพบิว” ภูริพล บุญสอน ลมกรดหนุ่มชาวสมุทรปราการ ที่สามารถทำลายสถิติประเทศไทยวิ่ง 100 เมตรชาย ในระหว่างการแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 47 “ศรีสะเกษเกมส์” ได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยสถิติ 10.19 วินาที
นับเป็นการทำลายสถิติเดิม 10.23 วินาทีของ “อุลตร้าเหรียญ” เหรียญชัย สีหะวงษ์ ที่ทำไว้เมื่อ 24 ปีก่อน ในกีฬาเอเชียนเกมส์ 1998 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพได้อย่างงดงาม
นอกจากนี้ “เทพบิว” ยังทำลายสถิติประเทศไทยของ เหรียญชัย ในอีเวนต์วิ่ง 200 เมตรอีก 1 รายการ ในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 47 “ศรีสะเกษเกมส์” เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังทำสถิติได้ 20.58 วินาที ทำลายสถิติเดิม 20.69 วินาทีของ เหรียญชัย ที่เคยทำไว้ในซีเกมส์ 1999 ที่บรูไนเมื่อ 23 ปีก่อนได้อย่างสวยหรู
นอกจาก ภูริพล แล้ว ในอีเวนต์นี้ สมาคมกรีฑายังค้นพบเพชรเม็ดงามอีกคน นั่นก็คือ “ต้าร์” สรอรรถ ดาบบัง ลมกรดหนุ่มวัย 19 ปีจากสิงห์บุรี ที่แม้ในกีฬาแห่งชาติศรีสะเกษเกมส์ เขาจะพ่าย “เทพบิว” โดยได้เพียงเหรียญเงินเท่านั้น ทว่าในศึกชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นักวิ่งจากเมืองสิงห์ผู้นี้ สามารถทำสถิติได้ 10.20 วินาที เรียกได้ว่าเป็นเวลาที่ช้ากว่าสถิติประเทศไทยของ “เทพบิว” เพียง 0.01 วินาที
ด้วยสถิติที่เร็วปานสายฟ้าฟาดของทั้งคู่ จึงทำให้สมาคมกรีฑาตัดสินใจส่ง ภูรพล กับ สรอรรถ ลงล่าเหรียญทองในการวิ่ง 100 เมตรชายด้วยกันทั้งคู่ พร้อมกับมีความหวังในการคว้าเหรียญทองอีเวนต์นี้กลับมาสู่ทีมกรีฑาไทยอีกครั้ง โดยหนสุดท้ายที่ลมกรดไทยคว้าเหรียญทองซีเกมส์ในการวิ่ง 100 เมตรชาย ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 9 ปีที่แล้วเลยทีเดียว ในซีเกมส์ 2013 ที่กรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา จากผลงานของ “ยูเซ็นมิ้ว” จิระพงศ์ มีนาพระ
“แฝดเล็ก” เผยอีกว่า แม้ทั้งคู่จะยังไม่เคยลงแข่งขันรายการระดับนานาชาติมาก่อน อาจจะต้องเผชิญกับแรงกดดันเล็กน้อย โดยเฉพาะ ภูริพล ที่ได้กลายเป็นความหวังใหม่ของแฟนกีฬาชาวไทย นับตั้งแต่ทำลายสถิติประเทศไทยมาหมาดๆ แต่ก็ยังเชื่อว่าทั้งคู่จะทำผลงานได้ดีในการวิ่ง 100 เมตรคราวนี้ ส่วนวิ่ง 200 เมตร ภูริพล จะลงล่าเหรียญทองคู่กับ ชยุตม์ คงประสิทธิ์ แชมป์เก่าในกีฬาซีเกมส์ 2019 ที่ฟิลิปปินส์
นอกจากนี้ ในทีมวิ่งผลัด 4X100 เมตรหนุ่มไทย ยังมีการเปลี่ยนแปลงเกือบทั้งทีมอีกด้วย หลังจาก “ยูเซ็นมิ้ว” จิระพงศ์ มีนาพระ ที่วิ่งไม้ 3 ให้กับทีมมาโดยตลอดในช่วง 10 ปีหลังสุด ได้อำลาทีมชาติไปแล้ว
“ตอนที่ จิระพงศ์ อำลาทีมชาติไปในตอนแรกรู้สึกหนักใจเช่นกัน เพราะเขาเป็นขุมกำลังสำคัญในการพาทีมผลัด 4X100 เมตรชายไทยประสบความสำเร็จมาหลายรายการ โดยเฉพาะการคว้าแชมป์เอเชียเมื่อปี 2019 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ซึ่งในรายการดังกล่าว ทีมไต้ฝุ่นไทยยังสร้างสถิติประเทศไทยขึ้นมาใหม่อีกด้วย 38.72 วินาที อย่างไรก็ตาม นับว่ายังดีที่เรายังได้ลมกรดสายเลือดใหม่อย่าง ภูริพล กับ สรอรรถ ขึ้นมาแทน” หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมกรีฑาไทยกล่าว
สำหรับทีมผลัด 4X100 เมตรชายในซีเกมส์ 2021 สมาคมกรีฑาได้เปลี่ยนแทบทั้งทีม โดยมีแค่ “ใบพัน” ศิริพล พันแพ เพียงคนเดียวเท่านั้นที่เป็นนักกีฬาชุดเดิม พร้อมกับเปลี่ยนบทบาทจากไม้ 4 มาวิ่งไม้ 3 แทน
ส่วนตำแหน่งไม้อื่นมีดังนี้ ไม้ 1 ชยุตม์ คงประสิทธิ์, ไม้ 2 สรอรรถ ดาบบัง, ไม้ 3 ศิริพล และไม้ 4 ภูริพล บุญสอน เจ้าของสถิติ 100 เมตรประเทศไทย โดยทีมไต้ฝุ่นชุดนี้ ไม่ได้เตรียมแค่ซีเกมส์คราวนี้เท่านั้น แต่ยังจะสานต่อไปถึงเป้าหมายในการคว้าเหรียญกีฬาเอเชียนเกมส์ 2022 ที่เมืองหางโจว ประเทศจีนในช่วงเดือนกันยายนอีกด้วย
ด้านวิ่ง 100 เมตรและ 200 เมตรหญิง กล่าวได้ว่าสถิติยังเป็นรองชาติคู่แข่ง ดังนั้นสมาคมกรีฑาอาจจะส่งดาวรุ่งไปเสริมกระดูก เพื่อต่อยอดไปสู่กีฬาซีเกมส์ในปีหน้าที่กัมพูชา
ส่วนอีเวนต์วิ่งผลัด 4X100 เมตรหญิง ได้ตั้งเป้าที่จะป้องกันแชมป์เช่นกัน โดยตอนนี้ได้วางตำแหน่งทุกไม้ไว้เรียบร้อย โดยเป็นดาวรุ่งผสมกับนักกีฬาชุดเดิม เริ่มจากไม้ 1 สุภาวรรณ ธิปัตย์, ไม้ 2 ศุภานิช พูลเกิด, ไม้ 3 อรอุมา เชษฐา ส่วนไม้สุดท้ายเป็นนักกีฬาดาวรุ่งซึ่งทางสมาคมกรีฑาขออุบชื่อไว้ก่อน
ด้าน คีริน ตันติเวทย์ นักวิ่งปอดเหล็กลูกครึ่งสหรัฐฯ ที่แจ้งเกิดได้อย่างเต็มตัวจากซีเกมส์หนก่อน เตรียมเดินทางมาป้องกันแชมป์ในการวิ่ง 5,000 เมตรและ 10,000 เมตรชายเช่นกัน โดยคราวนี้เจ้าตัวได้วิ่งในระยะ 1,500 เมตรชายอีกรายการ
ส่วนอีเวนต์อื่นๆที่เป็นความหวังของสมาคมกรีฑาไทยมีดังต่อไปนี้ ทศกรีฑาชาย (สุทธิศักดิ์ สิงห์ขร), ขว้างค้อนชาย (กิตติพงศ์ บุญมาวัน), ขว้างค้อนหญิง (มิ่งกมล คุ้มผล), ทุ่มน้ำหนักหญิง (อารีรัตน์ อินทดิษฐ์), พุ่งแหลนหญิง (ณัฎฐา นาชาญ), กระโดดสูงหญิง (วนิดา บุญวรรณ์), เขย่งก้าวกระโดดหญิง (ปริญญา เฉื่อยมะเริง) และ ขว้างจักรหญิง (สุเบญรัตน์ อินแสง)
ทั้งนี้ในรายของ สุเบญรัตน์ อินแสง กำลังลุ้นสร้างสถิติคว้าเหรียญทองซีเกมส์ 6 สมัยติดต่อกัน หากสามารถคว้าเหรียญทองขว้างจักรหญิงในซีเกมส์หนนี้มาครอง
– ถิรพัฒน์ ณ ลำปาง –
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.