“กกท.” รับลูกมาตรการผ่อนปรนการจัดแข่งขันกีฬา จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมปัดฝุ่นโครงการ “วิ่งปลอดภัย…..ไร้โควิด” จัดต่อเนื่อง 1 เดือนเต็ม ใช้ “ราชมังคลากีฬาสถาน” เป็นสนามนำร่อง เพื่อออกมาตรการจัดวิ่งบนถนนเต็มรูปแบบทั่วประเทศ คาดนักวิ่งให้ความสนใจอย่างล้นหลาม ด้าน “ภาคเอกชน” ขานรับอย่างคับคั่ง แห่เข้าร่วมโครงการฯ หวังฉุดกระแสวิ่ง ให้กลับมาคึกคักเช่นเดิม
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในงานแถลงข่าวโครงการจัดกิจกรรมวิ่งปลอดภัยไร้โควิด-19 ภายใต้ชื่อโครงการ “Running Zone 10K Challenge” ที่ห้องประชุมชั้น 24 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) โดยมี “บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.), นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย, นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย, พล.ต.ต.สุรพงษ์ อาริยะมงคล เลขาธิการสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยฯ, นายสุชาติ แจสุรภาพ ประธานกรรมการควบคุมมาตรฐานการวิ่ง สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยฯ, นายกอบเกียรติ แสงวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไตรลีก (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วยเหล่านักวิ่งชั้นแนวหน้าชื่อดังของไทย เข้าร่วมในงานแถลงข่าว ท่ามกลางสื่อมวลชนที่มาทำข่าวกันอย่างคับคั่ง
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีความพยายามเป็นอย่างยิ่งในการผลักดันให้วงการกีฬาสามารถขับเคลื่อนไปได้ควบคู่ไปกับมาตรการทางด้านสาธารณสุขของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมา ตนและเจ้าหน้าที่ทุกคนได้ทำงานอย่างหนักพยายามหาหนทางที่จะทำให้วงการกีฬากลับมาจัดการแข่งขันกีฬากันได้เช่นเดิม รวมถึงพยายามส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปหันมาสนใจในสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย ซึ่งตนถือว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่งเพราะหากประชาชนมีสุขภาพดี ก็จะมีภูมิคุ้มกันของร่างกายที่แข็งแรงควบคู่กันไป
รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวต่อว่า จนถึงวันนี้รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลจะประกาศเปิดประเทศและเริ่มผ่อนปรนมาตรการทางด้านสาธารณสุขต่างๆ ให้คลี่คลายลงมากกว่าเดิม ดังนั้น ตนจึงมอบหมายนโยบายเร่งด่วนให้กับผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย จัดทำโครงการสร้างกระแสความตื่นตัวและกำหนดมาตรการในการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยในขั้นต้นจะเน้นกีฬากรีฑาเป็นหลัก เนื่องจากตนเห็นว่า การวิ่งเป็นกิจกรรมที่เข้าถึงง่ายที่สุดประหยัดที่สุด และสามารถทำให้ร่างกายแข็งแรงได้เร็วที่สุด ที่สำคัญมีจำนวนประชาชนที่รักการวิ่งมากกว่า 15 ล้านคนทั่วประเทศ ดังนั้นตนจึงตั้งโจทย์ให้คณะทำงานนำไปจัดเป็นโครงการนำร่องโดยกำหนดพื้นที่ในการจัดกิจกรรม หรือที่เรียกว่า ZONING ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอย่างเคร่งครัด
“ผมหวังว่า ในอีกไม่นานนี้ ประชาชนและเยาวชนทุกคนจะมีภูมิคุ้มกันของร่างกายที่แข็งแรงจากการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง และสามารถต่อสู้กับเชื้อโควิด-19 ได้ในที่สุด”
ทางด้าน นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม รองผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ให้จัดทำโครงการเร่งด่วนเพื่อส่งเสริมให้มวลชนออกมามีส่วนร่วมในกิจกรรมกีฬา ลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 อีกทั้งยังเป็นการลดภาวะด้านความตึงเครียดจากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ตนจึงจัดทำโครงการภายใต้ชื่อ โครงการ RUNNING ZONE 10K CHALLENGE วิ่งปลอดภัยไร้โควิด ประจำปี พ.ศ.2564 ขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ดังที่กล่าวมาข้างต้น
“ในปีที่ผ่านมาการดำเนินโครงการวิ่งปลอดภัยไร้โควิดถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง มีประชาชนผู้รักการออกกำลังกาย เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดกระแสความตื่นตัวในการออกกำลังกายด้วยการวิ่งในรูปแบบ new normal ได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงจัดโครงการนี้ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยมี ระยะเวลาการจัดกิจกรรมทั้งสิ้น 1 เดือน เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 โดยมีรูปแบบของการจัดงานโดยใช้ลู่วิ่งในราชมังคลากีฬาสถาน การกีฬาแห่งประเทศไทย ให้เป็นสนามฝึกซ้อมและประลองความเร็วของเยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชนที่รักการวิ่ง โดยมีเป้าหมาย ให้วิ่งในระยะทาง 10 กิโลเมตร ผู้ที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติตามมาตรการการจัดการแข่งขันกีฬาภายใต้ประกาศล่าสุดของ ศบค. และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอย่างเคร่งครัด
ทางด้าน นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมควบคุมโรคมีบทบาทสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 คือเป็นองค์กรที่มีหน้าที่กำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ หรือรูปแบบของการดำเนินงานทางด้านการป้องกันและควบคุมโรคระบาดต่างๆที่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชาชน และเป็นองค์กรที่ต้องช่วยประสานงานและสนับสนุนในการปฏิบัติงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยบทบาทที่สำคัญนี้ทำให้กรมควบคุมโรคจะต้องให้ความร่วมมือและช่วยกำหนดหลักเกณฑ์ที่จำเป็นให้กับโครงการนี้ เพื่อให้ประสบความสำเร็จตามที่โครงการตั้งเป้าหมายไว้
ขณะที่ นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สิ่งที่กรมอนามัยจะเข้ามาร่วมกำหนดแนวนโยบายทางด้านการสาธารณสุขที่ต้องใช้เป็นองค์ประกอบหลักในการจัดวิ่งในแต่ละครั้ง ซึ่งในขณะนี้ได้มีการศึกษาร่วมกับสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย การกีฬาแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถึงรายละเอียดในการกำหนดมาตรการในการจัดวิ่งบนถนน หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง คาดว่าในอีกไม่นานนี้จะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันของทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขันวิ่งทั่วประเทศ ส่วนรายละเอียดต่างๆ ตนจะชี้แจงในโอกาสต่อไป
ส่วน พล.ต.ต.สุรพงษ์ อาริยะมงคล อุปนายกและเลขาธิการสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีที่การกีฬาแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาครัฐ ได้เห็นความสำคัญของกีฬาวิ่ง การมาร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของวงการกรีฑาภายในประเทศ ที่จะได้ทดสอบมาตรการต่างๆ ในการจัดวิ่งให้กับประชาชนโดยทั่วไป ตนคาดว่า โครงการนี้จะประสบความสำเร็จ เป็นแรงกระตุ้นให้ประชาชนที่รักการวิ่ง หันมาใส่ใจในสุขภาพของตัวเองกันมากขึ้นกว่าเดิม
นายสุชาติ แจสุรภาพ ประธานกรรมการควบคุมมาตรฐานการวิ่งฯ กล่าวเสริม ขณะนี้ สมาคมกีฬากรีฑาฯ ได้ออกร่าง ข้อกำหนดและระเบียบของการจัดการแข่งขันวิ่งบนถนน ให้เป็นไปตามกฎและกติกาของสมาคมกรีฑาโลก World Athletics โดยจะประกาศให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือนธันวาคมนี้ ตนคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่สมาคมฯ จะต้องเข้ามามีบทบาทในการควบคุมมาตรฐานการวิ่งให้เป็นไปตามหลักสากล ทั้งนี้ เนื่องจากวงการวิ่งบนถนนในบ้านเราได้มีการพัฒนาไปอย่างมากเห็นได้จากจำนวนรายการแข่งขันที่มีมากกว่า 1,000 รายการต่อปี มีนักวิ่งสมัครเข้าร่วมแข่งขันมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งหากสมาคมฯ ปล่อยให้ผู้จัดการแข่งขันจัดวิ่งไปตามอำเภอใจ โดยไม่มีหลักเกณฑ์ในการควบคุม จะก่อให้เกิดอันตรายขั้นร้ายแรงต่อนักวิ่ง ทั้งทางร่างกายและอุบัติเหตุที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา
สำหรับ โครงการ“RUNNING ZONE 10K CHALLENGE…วิ่งปลอดภัยไร้โควิด ครั้งที่ 2” จะจัดกิจกรรมต่อเนื่อง ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ระยะเวลา 1 เดือน (4 สัปดาห์) ณ ราชมังคลากีฬาสถาน ภายในการกีฬาแห่งประเทศไทย หัวหมาก มีการจัดระเบียบภายใต้กติกาที่ถูกกำหนดโดยศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (ศบค.) ด้วยการกำหนดให้มีวิ่งครั้งละ ไม่เกิน 1 ชั่วโมง 30 นาที และจำกัดจำนวนนักวิ่งไม่เกิน 250 คน โดยผู้ร่วมกิจกรรมทุกคน ในวันกิจกรรม จะต้องลงทะเบียน”ไทยชนะ” พร้อมรับริสแบนด์และให้ทีมงาน ได้ตรวจสอบประวัติการฉีดวัคซีน หรือ การแสดงผลการตรวจ ATK ที่เป็นลบเท่านั้นที่จะได้รับการอนุญาตให้เข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ได้
ส่วนรูปแบบของกิจกรรมในวันเสาร์และอาทิตย์ จะเป็นวันแข่งขันที่ใช้ชื่อว่า “RUNNING ZONE CHALLENGE 10K SEASON 2” เป็นการให้ทุกท่านแข่งขันวิ่งในระยะทาง 10 กม. โดยจะต้องวิ่งในลู่วิ่งตามความเร็วในการวิ่งของตนเอง มีการใช้เทคโนโลยีการจับเวลาแบบใหม่ คือ LIVE TRACKING ซึ่งทุกๆ คนสามารถตามลุ้นตามเชียร์นักวิ่งทุกท่านได้ แบบ REAL TIME หลังจากที่ทุกคนวิ่งเสร็จ จะได้รับของที่ระลึกภายในงานทุกวัน คือเสื้อFINISHER ที่ผลิตมาแบบ LIMITED EDITION ไม่ซ้ำสีในแต่ละสัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีเซอร์ไพร์สจากผู้สนับสนุนมอบรางวัลให้แก่ผู้ทำสถิติวิ่ง 10 กม.ได้เร็วที่สุด 100 คนแรก ของทั้งชายและหญิง และรางวัลจากภาคเอกชนที่เข้าร่วมสนับสนุนในโครงการอีกมากมาย
โดยผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม และลงทะเบียนสมัครได้ทาง www.RZ10K.com เปิดรับสมัคร ตั้งแต่วันพุธที่ 20 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป โดยการแข่งขันจะมีขึ้นทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม ถึง 21 พฤศจิกายน 2564 เริ่มลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป