เปิดเหตุผล เหตุใดผู้ผลิตยายักษ์ใหญ่จากเยอรมนีอย่าง “ไบโอเอนเทค” จึงเลือกสิงคโปร์เป็นฐานการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ ในเอเชีย
วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า “ไบโอเอนเทค” บริษัทผู้ผลิตยาสัญชาติเยอรมัน ซึ่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ทางบริษัทผลิตร่วมกับ “ไฟเซอร์ อิงก์” ในสหรัฐอเมริกา เป็นวัคซีนโควิดตัวแรกที่สหรัฐฯและยุโรปอนุมัติใช้เมื่อปีที่แล้ว ได้ประกาศตั้งโรงงานผลิตวัคซีนแห่งใหม่ในสิงคโปร์ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ตั้งเป้าผลิตวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ให้ได้หลายร้อยล้านโดสต่อปี
การเคลื่อนไหวครั้งนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตวัคซีน รวมถึงการรักษาโรคติดเชื้อและมะเร็งให้กับไบโอเอนเทค นอกจากนี้ยังเพิ่มความมั่นใจเรื่องความรวดเร็วในการผลิต เพื่อรับมือโรคระบาดต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ข่าวนี้มีขึ้นท่ามกลางความพยายามของสิงคโปร์ ซึ่งต้องการสร้างภาคอุตสากรรมที่เกี่ยวกับชีวการแพทย์และเภสัชกรรม โดยการใช้มาตรการจูงใจดึงดูดบริษัทต่าง ๆ
บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ อย่างไบโอเอนเทค กำลังจัดหาวัคซีนโควิดชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอให้กว่า 90 ประเทศ และคาดว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตได้กว่า 3 พันล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ 2.5 พันล้านโดส
ทั้งสิงคโปร์และฮ่องกงต่างก็ใช้วัคซีนโควิดของไบโอเอนเทค โดยที่สิงคโปร์มีการพัฒนาร่วมกับไฟเซอร์ ขณะที่ฮ่องกงได้รับการกระจายวัคซีนจาก บริษัท เซี่ยงไฮ้ โฟซุน ฟาร์มาซูติคอล กรุ๊ป ของจีน
เว็บไซต์ของไบโอเอนเทคเผยว่า จะตั้งสำนักงานในสิงคโปร์ และเริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตในปีนี้ โดยโรงงานดังกล่าวจะเปิดดำเนินการได้เร็วสุดในปี 2566 และจะสร้างงานได้มากกว่า 80 ตำแหน่ง
เว็บไซต์ไบโอเอนเทคเผยด้วยว่า โรงงานแห่งนี้จะเป็นโรงงานของไบโอเอนเทคแห่งแรกที่อยู่นอกเยอรมนี นอกจากนี้ยังเป็นโรงงานแห่งแรกที่อยู่นอกยุโรปและอเมริกาอีกด้วย
“ไรอัน ริชาร์ดสัน” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายยุทธศาสตร์ไบโอเอนเทค ให้สัมภาษณ์กับ This Week in Asia ว่า สาเหตุที่เลือกสิงคโปร์เป็นฐานการผลิตวัคซีนในเอเชีย เนื่องจากสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมระดับโลก อีกทั้งยังมีจุดเด่นหลายประการ ที่ทำให้บริษัทอยากร่วมงานด้วย”
ผู้บริหารไบโอเอนเทคกล่าวอีกว่า สิงคโปร์มีบรรยากาศที่เหมาะกับการทำธุรกิจเป็นอย่างยิ่งสำหรับบริษัท ที่ต้องการตั้งสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
สื่อสิงคโปร์รายงานว่า “อูกูร์ ซาฮิน” ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไบโอเอนเทค เผยว่า มูลค่าการลงทุนในสิงคโปร์อยู่ระหว่างหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
“เรามองว่าการลงทุนของไบโอเอนเทคในสิงคโปร์เป็นการลงทุนระยะยาว และเป็นการลงทุนที่นอกเหนือไปจากโควิด” เขากล่าวและว่า การมีโรงงานในสิงคโปร์หมายความว่า จะมีวัคซีนที่ผลิตจากโรงงานแห่งนี้ในจำนวนแน่นอนส่งให้กับสิงคโปร์
ไบโอเอนเทคและไฟเซอร์เพิ่งจะออกใบอนุญาตและร่วมมือด้านการผลิตกับบริษัทยาอื่น ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตวัคซีน และเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการกระจายวัคซีนอย่างกว้างขวาง ซึ่งวัคซีนดังกล่าว รวมถึงวัคซีนของบริษัทเมิร์คในสหรัฐฯ, โนวาร์ตีสจากสวิตเซอร์แลนด์ และซาโนฟีในฝรั่งเศส
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ไบโอเอนเทคประกาศว่าจะตั้งบริษัทร่วมทุนมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ กับ บริษัท เซี่ยงไฮ้ โฟซุน ฟาร์มาซูติคอล กรุ๊ป ของจีน เพื่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนให้ได้จำนวนมากถึง 1 พันล้านโดสต่อปี
“เจอโรม คิม” ผู้อำนวยการใหญ่ สถาบันวัคซีนนานาชาติ ใน กรุงโซล เกาหลีใต้ เผยว่า การที่บริษัทต่าง ๆ ทำงานร่วมกันเพื่อผลิตวัคซีนโควิดนั้น นับเป็นเรื่อง “ไม่ธรรมดา” พร้อมกับเน้นย้ำว่า ความสามารถของบริษัทต่าง ๆ ในการรับมือกับวิกฤตนี้ โดยขยายกำลังผลิตผ่านบริษัทที่ประสบความสำเร็จ ทำให้ได้วัคซีนคุณภาพสูง
เขากล่าวอีกว่า การที่ไบโอเอนเทคใช้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นฐานผลิตทำให้เกิดพลวัตในภูมิภาค ซึ่งมีประชากรรวมกัน 655 ล้านคน และการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน ช่วยเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอได้
วัคซีนป้องกันโควิด ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ หรือ เมสเซนเจอร์ อาร์เอ็นเอ ซึ่งเป็นวัคซีนที่โรงงานในสิงคโปร์จะผลิต เป็นเทคโนโลยีที่สอบให้ร่างกายสร้างโปรตีนที่มียอดแหลมคล้ายกับที่พบในไวรัสโคโรนา ซึ่งโปรตีนตัวนี้จะช่วยฝึกการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน หากร่างกายเกิดไปสัมผัสกับไวรัสเข้าจริง ๆ ในภายหลัง ภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งยังจำการตอบสนองต่อโปรตีนที่มียอดแหลมได้ จะออกไปต่อสู้กับไวรัส
โมเดอร์นาก็ใช้เทคโนโลยีเดียวกันนี้ในการผลิตวัคซีนของตัวเอง
คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ (อีดีบี) ซึ่งเป็นคณะกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย อยู่ภายใต้กระทรวงการค้าสิงคโปร์ ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับมาตรการจูงใจที่เสนอให้กับโบโอเอนเทค โดยอ้างว่าต้องรักษาความลับ
อย่างไรก็ตาม “โกห์ วาน ยี” รองประธานอาวุโสด้านการดูแลสุขภาพของอีดีบี กล่าวว่า บริษัทยายักษ์ใหญ่หลายแห่งที่ดำเนินการในสิงคโปร์ เช่น ไฟเซอร์, ซาโนฟี และจีเอสเค ล้วนได้ประโยชน์จากจุดเด่นของสิงคโปร์ ซึ่งมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมและการเชื่อมต่อระดับโลก
เธอบอกด้วยว่า ที่สิงคโปร์ยังมีนวัตกรรมที่เกิดจากการเติบโตของสตาร์ทอัพด้านสุขภาพ เทคโนโลยี และอวกาศ ตลอดจนบริษัทด้านการดูแลสุขภาพ ที่ต้องการพัฒนาและร่วมมือด้านดิจิทัล
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทยาข้ามชาติของฝรั่งเศสอย่าง “ซาโนฟี” ได้ประกาศความร่วมมือกับอีดีบี โดยซาโนฟีทุ่มลงทุน 400 ล้านยูโร ในระยะ 5 ปี เพื่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนในสิงคโปร์ ซึ่งจะสร้างงานได้ 200 ตำแหน่ง
โดยการสร้างโรงงานในสิงคโปร์ของซาโนฟีครั้งนี้จะช่วยเรื่องโซ่อุปทานในเอเชีย และช่วยเพิ่มกำลังผลิตที่มีอยู่ในยุโรปและอเมริกาเหนือ ทั้งนี้ ซาโนฟีจะเริ่มก่อสร้างโรงงานในสิงคโปร์ในไตรมาส 3 ปีนี้
รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญเรื่องการสร้างภาคการผลิตทางชีววิทยาและเภสัชกรรมเป็นอุตสาหกรรมหลักมานานแล้ว
อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ไม่ใช่ประเทศเดียวที่กำลังมองหาวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลออสเตรเลียได้ลงทุนกว่า 350 ล้านเหรียญออสเตรเลีย เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีน และขณะนี้ออสเตรเลียสามารถผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าผ่านความร่วมมือกับบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ข้ามชาติอย่าง ซีเอสแอลได้ ทว่าแทนที่จะเป็นวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ แอสตร้าเซนเนก้ากลับเป็นวัคซีนชนิดที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ