7 วินาทีสุดท้ายในการแข่งขันเป็นตัวชี้ชะตา“เทนนิส- พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ” ก่อนจะส่งให้เธอเป็นตำนานฮีโร่ของกีฬาเทควันโดไทย นอกจากคว้าเหรียญทองโอลิมปิกมาครองได้เป็นครั้งแรกแล้ว เธอยังเป็นอันดับหนึ่งของโลกในรุ่นไม่เกิน 49 กิโลกรัม
แต่กว่าจะมีรอยยิ้มอย่างที่เห็น เธอผ่านการร้องไห้ ถูกเตะมานับไม่ถ้วน บาดแผลทางใจจากการพ่ายแพ้มีมากมายจนเคยคิดถอดใจ ไม่อยากสวมชุดเทควันโดอีกต่อไป ถ้าวันนั้นเธอถอนตัวไป เหรียญทองลำดับที่ 30 คงไม่ได้อยู่ในตู้โชว์ทุกวันน
เพราะแพ้ถึงรัก
“บ้านหนูเป็นครอบครัวนักกีฬา พ่อแม่เล่นกีฬาทั้งคู่ ชื่อลูกๆยังเป็นชื่อ กีฬาเลยค่ะ พี่สาวชื่อโบว์ลิ่ง พี่ชายชื่อเบสบอล พ่อฝึกให้เล่นกีฬาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะวิ่ง วอลเลย์บอล จักรยาน ว่ายน้ำ เรียกว่าเล่นกีฬาทุกชนิดที่มีในโรงเรียน (โรงเรียนอนุบาลสุราษฎร์ธานี) จนได้มาเล่นเทควันโดตอน 7 ขวบและเป็นนักกีฬาของโรงเรียน ตอนแรกไม่ได้คิดจะเล่นจริงจัง แต่พอ 9 ขวบครูก็ส่งไปแข่งในแมตช์ประจำภาคใต้ ปรากฏว่าแพ้ โดนเพื่อนล้อว่าทำไมอ่อนจัง จุดนั้นแหละที่ทำให้หนูตั้งใจจะเป็นนักกีฬา บอกพ่อว่าจะกลับไปแข่งให้ชนะให้ได้ จะซ้อมจนค่ำทุกวัน ไม่ต้องรีบมารับนะ
หนูฝึกกับคุณครูทรงศักดิ์ ทิพย์นาง ครูคนแรกที่สอนเทควันโด ที่ยิมตาปี เทควันโด จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากนั้นหนูชนะ
มาเรื่อยๆ จนกระทั่งอายุ 13 มีโอกาสไปแข่งในรายการกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 27 ที่จังหวัดอุตรดิตถ์เมื่อปี2011 และได้เหรียญทองในรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 42 กิโลกรัม จากแมตช์นั้นก็ทำให้มีโควตาเข้ามาคัดตัวทีมชาติไทยและได้เจอกับ โค้ชเช” (ชัชชัย ชเว)
เกือบถอดใจ
“การซ้อมที่แคมป์ทีมชาติต่างจากที่ยิมตาปี ต้องตื่นตั้งแต่ตี5 มาวิ่ง ซ้อมรอบเช้า 2 รอบ ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นคู่ซ้อมให้รุ่นพี่ที่เขาเก่งกันระดับโลก เขาก็จัดหนักจัดเต็ม จำได้ว่าวันแรกเจอพี่เล็ก (ชนาธิป ซ้อนขํา นักกีฬาเทควันโด เหรียญทองแดงโอลิมปิกปี2012) เตะจนปากแตก ตอนนั้นคิดว่าไม่อยู่แล้ว อยากกลับบ้าน แต่พ่อบอกว่าอยากให้สู้จนกว่าจะโดนไล่ออก อย่ายอมแพ้เองจึงยอมกลับไปสู้ โชคดีที่เจอเพื่อนจากต่างจังหวัดเหมือนกัน คือติณ แพรว
และพี่องุ่น
ตอนนั้นเรายังไม่ติดทีมชาติ จึงไปเช่าห้องพักแถวราชมังคลากีฬาสถานอยู่ด้วยกัน จ่ายเงินกันเอง ขณะเดียวกันเรื่องเรียนมัธยมที่สุราษฎร์ธานีก็พักไว้ก่อน ยังไม่กล้าลาออก เพราะไม่รู้ว่าจะโดนไล่ออกจากการคัดตัววันไหน คือเข้าไปทีแรก 200 คน โดนคัดออกทุกวัน แล้วคัดไปเรื่อยๆจนเหลือแค่รุ่นละคน ทุกเสาร์จะเห็นภาพคนกลับบ้าน ตอนนั้นเราก็ยังไม่เก่งพอที่จะยอมย้ายสำมะโนครัวทุกอย่างมาที่นี่ น้าจึงใช้วิธีฝากให้มาเรียนที่โรงเรียนเทพลีลาไปก่อน
“ช่วงที่ยังไม่เก่ง พวกเราให้กำลังใจตัวเองตลอดว่าต้องติดทีมชาติ ต้องไปแข่งต่างประเทศให้ได้ หนูก็ตั้งใจซ้อมทุกวัน และสุดท้ายพวกเราก็ได้ไปแข่ง พร้อมกันจริงๆที่แมตช์ Korea Open 2011 เราคัดตัวตอนต้นปี และพอเดือน สิงหาคมก็ได้ไปแข่งที่เกาหลีใต้ในรุ่นไม่เกิน 42 กิโลกรัม เป็นสนามใหญ่ครั้งแรกในต่างประเทศ และรู้เลยว่ายาก เพราะเกาหลีเป็นต้นแบบของเทควันโด แต่เพราะด้วยเป็นแมตช์แรกและเราเป็นเด็กโนเนมจึงไม่กดดัน กลับตื่นเต้นที่ออกไปเจอโลกใหม่ ถ่ายรูปทุกจุดที่ไป ได้เสื้อติดธงชาติไทยมา ภูมิใจมาก จำได้ว่าคืนแรกหนูใส่นอนเลยนะ (หัวเราะ) พอถึงวันแข่งหนูตั้งใจเล่นเหมือนที่ซ้อม บวกกับกำลังใจดี เพราะที่บ้านไปเชียร์ทั้งครอบครัว พอแข่งแบบไม่กดดันมากและซ้อมเยอะ สุดท้ายก็ได้เหรียญทองกลับมาค่ะ
หลังจากนั้นก็มีโอกาสแข่งอีกหลายรายการ ทั้งเทควันโดเยาวชนชิงแชมป์โลก รายการ US Open รายการเยาวชนชิงแชมป์เอเชีย และอีกหลายแมตช์เพื่อหาประสบการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่
ก็ได้เหรียญทองกลับมา” (ยิ้ม)
บทเรียนจากความพ่ายแพ้
“มีสองครั้งในชีวิตที่รู้สึกผิดหวังจากการแข่งขัน ครั้งแรกซีเกมส์ที่พม่า ปี2013 ตอนนั้นเจอกับคู่แข่งซึ่งเป็นเจ้าภาพ เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว บวกกับเฮดการ์ด (ที่ป้องกันศีรษะ) ยังไม่เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์เหมือนตอนนี้ เพราะฉะนั้นการนับคะแนนจะยาก เพราะไม่มีเซ็นเซอร์แจ้ง วันนั้นหนูแพ้และรู้สึกว่าการตัดสินไม่เป็นธรรม หนูร้องไห้หนักมาก
“อีกครั้งคืองานโอลิมปิกที่บราซิล ปี2016 เราแพ้เกาหลีในรอบ 8 คน สุดท้าย ทั้งที่จริงตอนแรกคะแนนนำอยู่ 4 – 2 คะแนน เหลืออีกแค่ 10 วินาทีสุดท้าย เขาพยายามบุกมาทำคะแนน หนูจึงเข้าไปเตะที่หัวเขา ปรากฏว่าคะแนน
ไม่ขึ้น กลายเป็นเขาที่ทำคะแนนได้ จึงแพ้ไป ถ้าพูดในเรื่องของเทคนิค แค่เราถอยห่าง วิ่งวนออกมา ไม่อยู่ใกล้เพื่อไม่ให้เขาจัดการเราได้ ก็มีโอกาสคว้าเหรียญทองแล้ว มันอยู่ใกล้แค่เอื้อมจริงๆ แต่ครั้งนั้นทำพลาด ร้องไห้หนักอีก จบเกมเดินไปบอกโค้ชเลยว่าอยากออกจากวงการ ใจไม่เอาแล้ว หมดแพสชั่น เหนื่อย ท้อ มันคือบาดแผลที่เจ็บมาก แม้ทุกคนจะบอกว่าดีใจมากที่หนูได้เหรียญทองแดง แต่ข้างในเรารู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่คนพูดถึงโอลิมปิกครั้งนั้น
ตอนนั้นโค้ชและทีมนักจิตวิทยาก็เข้ามาคอยฟื้นฟูสภาพจิตใจ เขาสอนให้อยู่กับปัจจุบัน ไม่ต้องคิดถึงอนาคตว่าผลจะเป็นยังไง จะได้เหรียญทองหรือไม่ได้ ไม่ต้องคิดถึงอดีตที่เคยทำผิดพลาด แค่อยู่กับปัจจุบันกับสิ่งตรงหน้าและทำให้
เต็มที่ ไม่ว่าผลจะเป็นยังไง ทุกคนในทีมจะอยู่ข้างๆกันเหมือนเดิม เพราะเราเป็นครอบครัวเดียวกัน เหตุการณ์ที่ผ่านมามันเป็นบทเรียนอีกหนึ่งหน้าที่ต้องข้ามไปให้ได้ ไม่ว่าหน้านั้นจะเขียนไว้สวยหรือไม่ มันก็เป็นแค่หนึ่งหน้ากระดาษ
พอคิดถึงคำพูดพวกนี้ก็รู้สึกดีขึ้นค่ะ แต่ถ้าให้วันนี้กลับไปดูวิดีโอที่ตัวเองแข่งในแมตช์นั้นอีกครั้ง สารภาพว่าก็ยังร้องไห้ค่ะ หลังจากการแข่งครั้งนั้น หนูกลับมาซ้อมๆๆ บอกตัวเองว่าจะกลับไปชนะให้ได้ ซึ่งการแพ้ครั้งนั้นทำให้หนูถีบตัวเองมาไกลมาก เป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต”
ซ้อมทุกวันกว่า 5 ปี
“สำหรับการเตรียมตัวโอลิมปิกครั้งนี้ เราเตรียมตัวนาน 5 ปี ฝึกทุกวัน วันละ 3 เวลา เช้าตื่นมาวิ่งตั้งแต่ 6 โมงถึง 8 โมงครึ่ง จากนั้นพัก แล้วซ้อมต่อตอน 11.00 น. -12.00 น. เล่นเวตเทรนนิ่ง และอีกครั้งคือ 15.00 น. -18.30 น. เป็นเทคนิคเข้าคู่ซ้อมต่าง ๆ ทำอย่างนี้ทุกวัน หนูซ้อมกับผู้ชาย เพราะโค้ชอยากให้มีความแข็งแรง รวดเร็ว ว่องไวเท่ากับผู้ชาย ซึ่งต้องบอกว่าหนูทนมือ ทนเท้าผู้ชายมาตั้งแต่เข้าทีมชาติใหม่ๆแล้ว (หัวเราะ) บอกน้องคู่ซ้อมว่าเตะพี่ได้เต็มที่เลยนะ ถ้าน้องทำไม่เต็มที่ พี่จะไม่ได้อะไรจากน้อง ถ้าพี่เจ็บ พี่ร้องไห้ ไม่เป็นไร เดี๋ยวพี่จัดการตัวเองได้ ซึ่งน้องคู่ซ้อมก็จัดเต็มทุกวัน
“ตั้งแต่ซ้อมมาบาดเจ็บหนักสุดคือเอ็นไขว้หลังที่เข่าขาดค่ะ เมื่อปี2017 ตอนนั้นซ้อมกับผู้ชายแล้วขาชนกัน ซึ่งกระดูกเราไม่แข็งเท่าเขา ชนกัน 2 ครั้ง บาดเจ็บเลย เดินไม่ได้เป็นเดือน นอกจากนี้ผลจากการซ้อมก็ทำให้หนูสะโพกหลวม
ข้อเท้าหลวม ถึงขั้นที่ว่าถ้าข้อเท้าพลิกก็ไม่เป็นอะไร เพราะเส้นยืดจนไม่เหลืออะไรแล้ว แม้จะเป็นข้อเสียเปรียบที่ข้อเท้าเราไม่มั่นคงเท่ากับคนอื่น แต่ก็ไม่เป็นไร ใช้กล้ามเนื้อส่วนขาช่วยเสริมแทน
“ช่วงที่เกิดเหตุการณ์โควิดเราก็ยังซ้อมอยู่ อย่างช่วงต้นปี2020 ที่เพิ่งเกิดโควิด ตอนนั้นโค้ชให้แยกย้ายกลับบ้าน เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์จะไปทางไหน ก็ยังต้องมีวินัยกับตัวเอง ตื่นมาวิ่ง 6 โมงเช้าเหมือนเดิม ฝึกเอง ตอนหลังโค้ช
มาช่วยดูผ่านโปรแกรม Zoom ค่ะ เราซ้อมออนไลน์กัน 3 เดือน พอสถานการณ์ดีขึ้นก็กลับไปฝึกที่แคมป์
“การซ้อมช่วงโควิดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา สิ่งที่รู้สึกอย่างแรกคือเหงาค่ะ จากแคมป์ใหญ่มีคนประมาณ 30 คน ครึกครื้น เฮฮา เหลือแค่ 5 คน แล้วต้องไปเก็บตัวซ้อมที่เขาใหญ่ ห้ามเจอใครทั้งนั้น แม้กระทั่งครอบครัว คือหนูออกจากบ้านตั้งแต่ปีใหม่ แล้วไม่ได้กลับไปอีกเลย เพราะโค้ชเป็นห่วงเรื่องโควิด ถ้าติดขึ้นมา ร่างกายจะลำบากในเรื่องของการหายใจ ส่งผลเรื่องความแข็งแรงของปอด ตอนอยู่เขาใหญ่ก็ไม่ได้ออกไปไหนเลย อยู่แต่ในแคมป์ แต่ก็ทำให้ทีมเรายิ่งสนิทกันมากเหมือนครอบครัวเดียว แต่แน่นอนว่าการซ้อมทุกวันต้องมีช่วงขี้เกียจอยู่แล้ว เวลาอยู่ในอารมณ์นั้นก็จะฮึบค่ะ เพราะใจหนูคิดถึงแต่เหรียญทองอย่างเดียว อยากลบความผิดพลาดที่ติดอยู่ในใจให้ได้ บอกตัวเองว่าถ้าอยากได้เหรียญ ต้องไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปเฉยๆ อีกความรู้สึกคือกลัวว่าโอลิมปิกจะถูกยกเลิก ทุกอย่างที่เราซ้อมมานานจะไม่ได้อะไร ก็พยายามดึงสติตัวเองให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน เรามีหน้าที่ซ้อม ก็ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เราไม่มีทางรู้ว่าโอลิมปิกจะจัดหรือไม่ แค่ทำตรงนี้ให้ดี จึงตั้งใจซ้อมมาก เวลาเหนื่อยมาก หนูจะเดินไปมองหน้ากระจกและยิ้มให้ตัวเอง ไม่ได้ยิ้มแบบมีความสุขนะ ขอแค่ยิ้มให้ตัวเอง แล้วบอกตัวเองว่าสู้ๆนะ
“เวลาซ้อมจะให้ความสำคัญรอบด้านเลยค่ะ ทั้งจุดเด่นและจุดด้อย จุดเด่นของหนูอยู่ที่การเตะหัว ซ้อมเตะวันละพันครั้งกับกระสอบและคู่ซ้อม ส่วนจุดด้อย ก็ต้องซ้อม แต่ขอไม่บอกนะคะว่าตรงไหน (หัวเราะ) อีกอย่างคือต้องเตรียม
รับมือคู่แข่งที่เขาจะทำคะแนนใส่เรา ด้วยการจำลองสถานการณ์ว่าคู่ต่อสู้จะเตะมาลักษณะไหน รวมไปถึงจำลองบรรยากาศของสนามแข่งด้วย เช่น ซ้อมเวอร์ชั่นการแข่งที่ไม่มีคนดู ไม่มีเสียงเชียร์ เงียบชนิดที่ได้ยินใจตัวเองเต้น กับอีกแบบคือมีคนดูเล็กน้อยและเปิดเพลงเสียงดัง ไปจนถึงบรรยากาศฮึกเหิมมาก เราซ้อมมาหมด พอไปเจอวันแข่งจริงมีเพลงเชียร์และเสียงกองเชียร์จึงไม่ตื่นเต้นมาก”
วินาทีคว้าเหรียญทอง
“ก่อนขึ้นแข่งทุกรอบต้องทำให้ตัวเองผ่อนคลายที่สุด เปิดตาให้กว้าง บอก ตัวเองว่าต้องอยู่ในเกมของเรานะ ไม่ต้องเข้าไปอยู่ในเกมของเขา คือต้องไม่ไปอยู่ในท่าที่เขาถนัด ต้องอยู่ในท่วงท่าที่เราได้เปรียบ อีกสิ่งหนึ่งคือหนูจะไหว้สายดำที่เปรียบเสมือนครูก่อนลงสนาม บอกสายดำว่าช่วยให้หนูอยู่กับปัจจุบัน มีสติ แล้วนึกถึงแม่กับยายที่เสียไปแล้วว่าช่วยเป็นกำลังใจให้ลูกด้วย ลูกจะพาร่างกายนี้ไปคว้าเหรียญทอง
“รอบชิงชนะเลิศที่เจอกับสเปน คู่แข่งเราเจอทั้งจีนและเซอร์เบียมาก่อนซึ่งเก่งมากทั้งคู่ ก็แอบกังวลนะ แต่โค้ชบอกว่าไม่ต้องกังวล เล่นให้เหมือนที่ซ้อมก็พอ แล้วพอเข้าไปแข่งจริง สิ่งสำคัญมากกว่าอะไรทั้งหมดคือสติค่ะ ซึ่งเป็นเรื่องที่หนูถูกเทรนมาอย่างหนัก ไม่ว่าแต้มตอนแข่งใครจะนำ เราต้องปล่อยมันไปอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับสิ่งตรงหน้า แล้วทำมันใหม่ ถ้าเราคะแนนนำอยู่ก็ทำต่อไปถ้าเราพลาดอย่าหัวเสีย เวลาที่เหลืออยู่ทุกวินาทีมีค่า จะ 10 วินาทีหรือ 3 วินาที
เกมสามารถพลิกได้หมด ต้องไม่ตื่นเต้น ตอนแรกหนูเป็นรอง ช่วงที่เหลือ 30 วินาทีสุดท้ายก็ยังใจเย็นอยู่ จนเหลือ 7 วินาทีสุดท้าย รู้ว่าต้องทำคะแนนแล้วจึงรุกคู่ต่อสู้ ใช้จุดแข็งของเราด้วยการเตะหัวไปทำคะแนน แล้วถอยออกมาตั้งหลักใช้บทเรียนจากครั้งที่แล้ว คือไม่ต้องไปยุ่งกับเขาอีก ซึ่งหนูซ้อมสถานการณ์นี้มาด้วยซ้อมทั้งที่ตัวเองมีคะแนนนำและคะแนนตาม ต้องบอกว่าตอนซ้อมกดดันกว่านี้เช่น 5 วินาทีสุดท้ายทำคะแนนอยู่ แต่ปรากฏว่าตัวเองโดนเตะหัว 2 ครั้ง ก็แพ้ เจอสถานการณ์ลบๆแบบนี้มาเป็นร้อยครั้งจนชิน จึงไม่ตื่นเต้นกับแต้มหรือวินาทีที่เหลืออยู่ตรงนั้น อยู่กับปัจจุบันสุดๆ แต่เข้าใจคนดูว่าช่วงวินาทีท้ายๆคงลุ้นใจจะขาดแล้ว (หัวเราะ)
“วินาทีที่ได้เหรียญทองดีใจจนบอกไม่ถูก บอกตัวเองว่าทำได้แล้วโว้ย (หัวเราะ) วิ่งไปกระโดดกอดโค้ช แล้วเพิ่งมารู้ว่าจังหวะนั้นขาหนูไปชนมือโค้ชจนซ้น (หัวเราะ) โมเมนต์ตอนขึ้นไปรับเหรียญคือโล่งอก ภูมิใจมาก เพราะนี่เป็น
เหรียญทองประวัติศาสตร์ครั้งแรกของทีมเทควันโด เราเหนื่อยมามาก โดนผู้ชายเตะมาไม่รู้กี่ครั้ง ห่างครอบครัว ร้องไห้ทุกวันก็เพื่อเวทีนี้ ซึ่งเป็นที่สุดของที่สุด หลังจากแข่งเสร็จ พอเปิดโทรศัพท์เห็นคนเชียร์เยอะมาก ดีใจที่ได้เป็นความสุขของคนไทยในค่ำคืนนั้น
“จากการแข่งครั้งนี้ทำให้หนูเป็นที่ 1 ในโลกของรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กิโลกรัมสำหรับโอลิมปิกครั้งต่อไป อีก 3 ปีข้างหน้าก็อาจจะได้ไปอีกครั้ง แต่ไม่กดดันตัวเอง แค่ตั้งใจซ้อม มุ่งมั่น ทุ่มเท ทำให้ได้ ถ้าวันนั้นหนูยังซ้อมได้ดี ก็อยากไป
ทำหน้าที่ตรงนั้นอีกครั้งค่ะ
“สุดท้ายหนูขอบคุณคุณพิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทีมเทควันโด และคอยสนับสนุนอำนวย ความสะดวกทุกอย่าง รวมไปถึงโค้ชเช ทีมสต๊าฟโค้ช รวมถึงคุณครูทรงศักดิ์ ทิพย์นาง ครูคนแรกที่ปั้นหนู ขอบคุณทีมงาน คุณหมอ นักกายภาพที่คอยรักษาอาการบาดเจ็บ ไปจนถึงพ่อ ครอบครัวที่อยู่ข้างๆ ให้โอกาสได้เล่นกีฬาตั้งแต่เด็กจนพบเจอเทควันโด และขอบคุณคนไทยที่เป็นกำลังใจให้นักกีฬาไทยทุกคน ถ้า
ไม่มีทุกคน หนูคงไม่มีกำลังใจเตะค่ะ”
ในวันที่ไม่ต้องแข่ง
“หนูรู้ว่าอาชีพนี้ไม่ยืนยาว ถ้ามีโอกาสก็อยากถ่ายทอดประสบการณ์ให้น้องๆ ต่อไป อยากให้คนรุ่นหลังได้มายืนจุดสูงสุดแบบหนู อีกอย่างคืออยากเปิดคาเฟ่หรือยิม และอยากเป็นยูทูบเบอร์ที่ได้ไปเที่ยวรอบโลก เพราะปกติเวลาไปแข่งไม่เคยได้ไปเที่ยวเลย ตอนนี้หนูทำช่องของตัวเองชื่อว่า PaNisPak พานิสพัก เพราะอยากไปพักบ้าง ส่วนสถานที่ในฝันคืออยากไปติดเกาะที่เกาะกูดสัก 1 เดือน แต่ชีวิตจริงคือน่าจะไปได้แค่ 2 วัน เพราะตอนนี้ก็ต้องกลับไปซ้อมแล้ว
“การซ้อมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ถ้าไม่ได้ซ้อมคงเคว้งคว้างมาก ขณะเดียวกันหนูก็รักเทควันโดมาก เป็นกีฬาที่สอนให้ทำทุกวินาทีอย่างมีคุณค่าและดีที่สุดค่ะ”