วันอังคาร ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2566, 22.51 น.
เตรียมดำเนินคดีรีสอร์ทหรูบนเกาะหลีเป๊ะ 3-4 แห่งหลังพบสร้างอยู่บนที่ดินอุทยานฯ “บิ๊กโจ๊ก”ตั้งท่าเอาแน่ใช้คดีอาญานำ เผยเตรียมตรวจเอกสารสิทธิที่ดินทั้งสารบบบนเกาะ ขู่ข้าราชการไม่ทำหน้าที่ถูกมาตรา 157
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้มีการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ โดยมี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ “บิ๊กโจ๊ก” รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธาน ซึ่ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติว่าจะใช้แผนที่ทางอากาศที่จัดทำขึ้น พ.ศ.2493 เป็นหลัก โดยมอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร้องทุกข์ดำเนินคดีผู้บุกรุกทั้งหมดในวันที่ 26 มกราคม
รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า ผู้บุกรุกไม่ว่าจะเป็นรายหลัง รีสอร์ท โรงแรม บริเวณหัวแหลมและชายหาด จะถูกกรมอุทยานฯร้องทุกข์ทั้งหมด ในส่วนของชุมชนนั้น จะพิจารณาว่าชุมชนไหนอยู่โดยชอบและชุมชนไหนอยู่โดยไม่ชอบ หากไม่ชอบก็ต้องถูกดำเนินคดีด้วยเช่นกัน และในวันที่ 30 มกราคม ตนจะลงพื้นที่อีกครั้งพร้อมกรมธนารักษ์โดยเอาเจ้าหน้าที่ชุดส่วนกลางลงทั้งหมดช่วยสนับสนุนพื้นที่เพราะเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อาจรู้จักและเกรงใจกัน ซึ่งได้หารือกับอธิบดีกรมธนารักษ์แล้วโดยเอาเครื่องมือพิเศษไปร่วมกับกรมที่ดินชี้แนวเขต หากมีการบุกรุกก็จะดำเนินคดี
พล.อ.สุรเชษฐ์กล่าวว่า ได้หารือกับรองอธิบดีกรมที่ดินแล้วว่า จะมีการส่งเรื่องสารบบที่ดินมาให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ รวมทั้งเอกสารการครอบครองที่ดินทั้งหมดโดยให้ผู้การฯจังหวัดรวบรวมไว้ในส่วนของพนักงานสอบสวน ที่เห็นชัดเจนในวันนี้คือการดำเนินคดีในส่วนของกรมอุทยานฯและกรมธนารักษ์ และในวันที่ 30 มกราคม กรมบังคับคดีจะลงพื้นที่ร่วมด้วยเพื่อไปรื้อถอนที่ศาลฏีกามีคำพิพากษาว่ารุกล้ำซึ่งมีอยู่ประมาณ 15 พื้นที่ ดังนั้นกรมธนารักษ์ กรมที่ดิน กรมอุทยานฯและตำรวจจะดำเนินการร่วมกันเกี่ยวกับการรื้อถอนต่างๆ
ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงฯกล่าวว่า ในเรื่องของคดีได้มีการตั้งคณะทำงานในส่วนของตำรวจขึ้นมาพิจารณาคดีทั้งหมดว่า มีการฟ้องกี่คดี อยู่ระหว่างฟ้องกี่คดี ในส่วนของการบุกรุกพื้นที่หน้าหาดเป็นความรับผิดชอบของกรมเจ้าท่าซึ่งในวันที่ 30 มกราคม ก็จะพากรมเจ้าท่าลงพื้นที่และดำเนินคดีกับผู้ที่บุกรุกด้วยเช่นกัน
“อยากเรียนว่า การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานรัฐ วันนี้เราต้องไปดูว่าการรุกล้ำเส้นทางสาธารณะ รุกล้ำเส้นทางน้ำ เป็นหน้าที่ของใคร เช่น ปลัดอำเภอ นายอำเภอ ผู้ว่าฯ เราต้องดูว่าเขาทำหน้าที่หรือไม่ ถ้าเขาไม่ทำหน้าที่ตำรวจก็ต้องดำเนินคดีตามมาตรา 157 ผมเรียนเตือนว่าใครมีหน้าที่ในพื้นที่ก็ต้องไปทำซ่ะ” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าว
เมื่อถามว่าได้กำหนดกรอบระยะเวลาไว้หรือไม่ในการคืนความเป็นธรรมให้ชาวบ้าน รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า เราต้องไล่ไปทีละขั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง กรรรมการฯ ได้เคยดำเนินการตรวจสอบไปก่อนหน้านี้ ซึ่งตนอาศัยความรู้มาขับเคลื่อน และตอนนี้ได้มีการวางกรอบไว้แล้ว เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายชัดเจนเราจะเห็นภาพ และต้องไม่ลืมว่าต่อไปต้องมีการจัดระเบียบไปถึงโรงแรมด้วย เพราะโรงแรมบนเกาะไม่มีใบอนุญาตเลย เมื่อประกอบกิจการจะเสียภาษีให้รัฐอย่างไรเพราะมีรายได้มหาศาล เคยเอาภาษีมาพัฒนาท้องถิ่นหรือไม่ ซึ่งต้องดูว่าเป็นหน้าที่ของใคร หากใครไม่ทำก็ถือว่าละเว้นหมด
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าวว่า การดำเนินการต้องทำอย่างรอบคอบและรัดกุมและเป็นธรรม แต่ต้องรวดเร็ว เพราะความล่าช้าคือความไม่ยุติธรรมจึงต้องทำให้รวดเร็ว โดยต้องดูแลเจ้าหน้าที่ทั้งหมดเพื่อไม่ให้ถูกฟ้องดำเนินคดีกลับ โดยวันนี้ตั้งต้นที่คดีอาญาเป็นหลัก เมื่อมีคดีอาญาแล้วนำไปสู่การเจรจาได้
เมื่อถามว่าพอจะระบุพื้นที่ 5 จุดที่จะเข้าไปดำเนินการได้หรือไม่ รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า เป็นพื้นที่บริเวณหัวเกาะซึ่งมีรีสอร์ทต่างๆรุกล้ำ และมีสระว่ายน้ำ ดังนั้นในการร้องทุกข์ตนได้แจ้งกรมอุทยานฯแล้วว่าให้ทำภายในวันที่ 26 มกราคม เพื่อตนจะได้นำไปไว้ในสำนวนสอบสวน และวันที่ 30 จะได้ลงไปดูได้ว่าทำเรียบร้อยหรือไม่ หรือต้องการเพิ่มเติมตรงไหน
ผู้สื่อข่าวถามว่าบริเวณที่บุกรุกสร้างรีสอร์ทไปแล้วต้องหรือถอนใช่หรือไม่ รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า หากเป็นการบุกรุกก็ต้องถูกดำเนินดคี หากออก น.ส.3 ไม่ได้ แสดงว่าพื้นที่นั้นเป็นของกรมอุทยานฯ ส่วนของชุมชนแยกออกเป็น 2 ส่วนคือส่วนที่อยู่อย่างถูกต้องตามมติคณะรัฐมนตรี และชุมชนไม่ถูกต้องก็ถูกดำเนินคดี
เมื่อถามอีกว่าเอกชนที่ลงทุนสร้างรีสอร์ทมหาศาลอาจไม่ยอม พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่าเราต้องใช้หลักบ้านเมืองนำ เมื่อรู้ว่าใครผิด ใครถูก ก็สามารถคุยกันได้ ดังนั้นเรื่องการรื้อถอนต่างๆเดี๋ยวค่อยมาคุยกัน แต่วันนี้ต้องให้หลักกฏหมายนำ
ประธานคณะกรรมการฯกล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการฯ 3 ชุด โดยชุดแรกมี พล.อ.สุรินทร์ เป็นประธาน เกี่ยวกับเรื่องการดูแลวิถีชีวิตชาวเล ชุด 2 อนุกรรมการบังคับใช้กฎหมาย และ ชุด 3 เป็นอนุกรรมการตรวจสอบสิทธิ
“ตอนนี้มี 2 ส่วนคือเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ใครบุกรุกหรือไม่บุกรุก เมื่อไล่ไปแล้วว่าเป็นการออกเอกสารสิทธิโดยชอบหรือไม่ ส่วนที่ไม่ชอบก็ต้องดูว่าเป็นการออกโดยใคร เขาต้องถูกดำเนินดคีอาญา อย่าลืมว่าเรื่องนี้เจ้าหน้าที่รัฐต้องถูกดำเนินคดีแน่ โดยต้องไล่มาตั้งแต่ปลัดอำเภอ นายอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ใครมีหน้าที่แล้วไม่ทำก็คือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่ถ้ามีการเรียกรับผลประโยชน์ก็ต้องไปที่มาตรา 149 ต่อ เมื่อวานได้เรียนปลัดกระทรวงมหาดไทยแล้ว เดี๋ยวท่านจะให้ผู้เชี่ยวชาญและผมด้วยไปคุยกับอธิบดีกรมที่ดินว่าจะเพิกถอนหรือใช้อำนาจอย่างไร”พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าว
เมื่อถามอีกว่ากรณีถนนและลำรางสาธารณะที่ถูกบุกรุกต้องนำคืนมาและดำเนินคดีด้วยใช่หรือไม่ รอง ผบ.ตร.กล่าว่า แน่นอนอยู่แล้ว เพราะเกาะหลีเป๊ะเท่าที่ตนไปเดินสำรวจ หากปล่อยไปเช่นนี้อีกสักพักก็จะกลายเป็นกองขยะและเกาะหลีเป๊ะก็จะหมดสภาพ คณะกรรมการชุดนี้ต้องการทำเกาะนี้ให้เป็นเกาะสวรรค์เหมือนเดิม แต่หากปล่อยสภาพเป็นเช่นทุกวันนี้ไปอีก 5 ปีก็จะเป็นกองขยะแน่ เพราะน้ำก็ท่วมเนื่องจากเข้า-ออกไม่ได้ เราต้องทำให้เกาะแห่งนี้กลับมาสวยงาม
ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อร้องเรียนขอพิสูจน์สิทธิ์การอยู่มาก่อนที่จะมีเอกสารสิทธิ์ของชาวเลเกาะหลีเป๊ะ รวมถึงการได้มาของ นส.3 ที่ได้มาแบบมิชอบ เช่น มีการข่มขู่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ระบุว่า ตอนนี้ขอสารบบเอกสารทั้งหมดจากกรมที่ดิน ส่วนไหนที่ออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ มีการออกเกิน ทางดีเอสไอและกรมอุทยานฯ ได้เอาแผนที่มาชี้และยืนยัน และส่งให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอน
พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง กรรมการแก้ไขปัญหาฯซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นประธานอนุกรรมการด้านฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล กล่าวว่า ขั้นต้นต้องสำรวจมีชาวเลว่ากี่ครอบครัว และมีใครที่อยากกลับไปอยู่ในพื้นที่ที่ถูกย้ายมาหรือไม่ แต่ละคนประกอบอาชีพอะไร ปัจจุบันอยู่ในที่ดินของใคร ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลครบแล้วแล้วก็พิจารณาเรื่องที่ดินว่า ที่ดินบริเวฯไหนเป็นสิทธิของชาวเลที่อยู่ได้บ้าง
“เราต้องทำให้ชาวเลได้มีสิทธิในที่ดินของชุมชนร่วมกัน ไม่มีการซื้อขาย เพื่อรักษาที่ดินไว้ในอนาคต ผมเชื่อว่ามีที่ดินบนเกาะเพียงพอสำหรับชาวเล 125 ครอบครัว เราอาจใช้ระบบของ พอช.(สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) เข้าไปช่วยคือ ชาวบ้านและรัฐร่วมกันจ่ายโดยมีระบบผ่อนจ่าย แต่เป็นแบบบ้านของชาวเล มีการวางผังให้ถูกสุขลักษณะ”พล.อ.สุรินทร์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจพื้นที่หัวแหลมเกาะหลีเป๊ะซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ที่เอกชนอ้างว่าเป็นที่ดินงอกออกจากพื้นที่ 80 ไร่ของ น.ส.3 แปลงที่ 11 พบว่าบริเวณดังกล่าวได้มีการสร้างโรงแรมและรีสอร์ทหรูหรา 3-4 แห่ง บางแห่งมีสระว่ายน้ำ และมีราคาค่าห้องพักสูงกว่า 1 หมื่นบาทต่อคืน ซึ่งบางแห่งสร้างขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน และบางแห่งสร้างขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา โดยที่ดินบริเวณดังกล่าวอยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา
ทั้งนี้ในส่วนของลำรางสาธารณะที่ถูกบุกรุกและถมทับ ชาวเลได้เคยทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้งแล้ว รวมทั้งได้ร้องเรียนไปยังรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเมื่อครั้งมาลงพื้นที่ แต่เรื่องเงียบหายไป ทำให้ทุกๆปีชาวเลที่อาศัยอยู่กลางเกาะหลีเป๊ะต้องเผชิญน้ำท่วม เช่นเดียวกับเรื่องถนนดั้งเดิมได้มีการร้องเรียนไปยังอำเภอและจังหวัดหลายรอบแล้ว แต่ไม่มีการแก้ไขโดยทางจังหวัดเคยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบแต่เรื่องได้เงียบหายไปเช่นกัน