กรมธรณี เตือน 43 จว. กระทบพายุไต้ฝุ่นโนรู เตรียมรับมือดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก แนะวิธีหนีรอดจากภัยดินถล่ม พร้อมตั้งวอร์รูมเฝ้าระวัง 24 ชม.
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
วันที่ 28 ก.ย.65 นายสุวิทย์ โคสุวรรณ รองโฆษกกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ได้ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ดินถล่ม เนื่องมาจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นโนรู พบว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากดินถล่มส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา และชุมชนที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทางน้ำตามร่องเขาที่มวลดินเคลื่อนที่ผ่าน
โดยจากการคาดการณ์เนื่องจากอิทธิพลพายุไต้ฝุ่น “โนรู” พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ระหว่างวันที่ 28-30 ก.ย.65 พื้นที่เฝ้าระวังธรณีพิบัติภัยดินถล่ม 43 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครราชสีมา ชัยภูมิ เลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู ขอนแก่น, ภาคเหนือ ได้แก่ จ.ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุทัยธานี นครสวรรค์, ภาคตะวันออก ได้แก่ จ.ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด, ภาคกลาง ได้แก่ จ.กาญจนบุรี ราชบุรี สระบุรี ลพบุรี นครนายก และภาคใต้ ได้แก่ จ.ระนอง พังงา ชุมพร
สำหรับการติดตามและเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยของกรมทรัพยากรธรณี เพื่อรับมือกับพายุไต้ฝุ่น “โนรู” ได้มีการจัดตั้ง War room เพื่อติดตามสถานการณ์พายุไต้ฝุ่น “โนรู” ที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ระหว่างวันที่ 28-30 ก.ย.65 โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง เบอร์โทร 0-2621-9701-5 พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายกรมทรัพยากรธรณี ให้การเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากได้อย่างทันท่วงที
ส่วนข้อควรระมัดระวังเกี่ยวกับสถานการณ์ธรณีพิบัติภัยดินถล่ม เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงที่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม หลีกเลี่ยงการก่อสร้างที่กระตุ้นให้เกิดแผ่นดินถล่ม หลีกเลี่ยงการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือปรับเปลี่ยนสภาพพื้นที่บริเวณที่สูงชัน และที่ลาดเชิงเขาที่มีผลทำให้เสถียรภาพของลาดดินลดลง อาจส่งทำให้เกิดการเลื่อนไถลของชั้นดินและหินได้
นอกจากนี้ควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพื้นที่เสี่ยงภัย และลักษณะบ้านเรือนที่เสี่ยงภัยในชุมชน พร้อมทั้งร่วมกันจัดทำแผนเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยในชุมชน รวมถึงแผนอพยพหนีภัย ตลอดจนร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยดินถล่มของชุมชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมสังเกตสิ่งบอกเหตุการณ์เกิดดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก เช่น มีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ระดับน้ำในทางน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สีของน้ำในทางน้ำเปลี่ยนเป็นสีดิน มีเสียงดังมาจากภูเขาเนื่องจากเกิดการถล่มบนภูเขา เป็นต้น พร้อมทั้งการติดตามข่าวสารสภาพอากาศ ประกาศแจ้งเตือนภัยดินถล่ม และข่าวประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การปฏิบัติตนขณะเกิดเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยแผ่นดินถล่ม ควรอพยพไปยังสถานที่ปลอดภัยตามเส้นทางอพยพที่กำหนดไว้ โดยการอพยพควรกระทำอย่างรวดเร็วและไม่ควรกังวลในการเก็บทรัพย์สิน ทั้งนี้ ข้อพึงระวังในช่วงการอพยพคือ ไม่ควรอพยพข้ามลำน้ำ เพราะอาจจะเกิดการชำรุดหรือพังลงมาของสะพานข้ามลำน้ำ ทำให้ถูกน้ำพัดพาไปได้ และระหว่างที่อพยพอย่าเข้าใกล้บริเวณดินถล่มและเส้นทางของดินถล่มโดยเด็ดขาด หากพลัดตกน้ำ ให้หาต้นไม้ใหญ่ยึดเกาะและปีนให้พื้นน้ำ ห้ามว่ายน้ำหนีเพราะอาจกระแทกกับเศษหิน ดิน ซากต้นไม้ ที่ลอยมากับน้ำได้ และไม่ควรเข้าใกล้หรือกลับเข้าไปในบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย เพราะอาจเกิดดินถล่มซ้ำได้