หลายคนเลือกที่จะยุติความฝันของตัวเองเพียงเพราะคำว่า “ท้อ” ซึ่งคำนี้กับนักกีฬาเปรียบเสมือนเป็นเส้นทางคู่ขนานที่พร้อมจะมาบรรจบกันก็ต่อเมื่อนักกีฬาเกิดอาการถอดใจ และเราก็ไม่ควรจะไปกล่าวหานักกีฬาเหล่านี้เพราะความท้อนั้นมันเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่จุดเปลี่ยนคือแต่ละคนมีวิธีจัดการกับความรู้สึกนี้อย่างไร
ในอดีตย้อนกลับไปสัก 10 ปี จะมีกลุ่มนักว่ายน้ำที่ถือว่าโหดที่สุดของยุคราวๆ 6-7 คน โดยเราจะสถาปนาให้คือกลุ่มคลาสออฟ 38 และ “เงือยจอย” เจนจิรา ศรีสอาด ก็คือ 1 ในนั้น และเจ้าตัวก็เคยรู้สึกท้อจนคิดอยากจะเลิกเล่นว่ายน้ำรวมไปถึงการอำลาทีมชาติหลายครั้ง แต่การคิดจะเลิกว่ายน้ำของเธอมักจะมีจุดพลิกผันตลอด
ครั้งแรกที่อยากจะเลิกเล่นเจ้าตัวเปิดใจคือการหลุดทีมชาติชุดใหญ่ซีเกมส์ 2009 ซึ่งต้องบอกก่อนว่าสมัยนั้น เจนจิรา เป็น 1 ในดาวรุ่งเยาวชนที่ว่ายน้ำได้ดีมาก แต่ก็ยังไม่ดีพอที่จะขึ้นชุดใหญ่ ต่างจากกลุ่มเพื่อนคลาสออฟ 38 ที่ก้าวไปสู่ชุดใหญ่แทบจะทุกคน และก็มีหลายคนปรามาสเธอไว้อย่างมากมายล้วนแต่เป็นเชิงลบแทบทั้งสิ้น จากเหตุการณ์ครั้งนั้น “เงือกจอย” ท้อแท้ถอดใจไปแล้ว แต่ก็มีลมวูบหนึ่งที่ฉุดรั้งให้อยู่ต่อเพื่อจะพิสูจน์ตัวเองอีกรอบ
ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่ เจนจิรา ปาดน้ำตาแล้วกลับมาสู้ต่อจนติดทีมชาติชุดใหญครั้งแรกในซีเกมส์ 2011 เพราะด้วยวัยเพียง 16 ย่าง 17 ปีก็มีส่วนช่วยทีมผลัดสาวไทยเหรียญรางวัลการแข่งขันซีเกมส์ได้ถึง 2 เหรียญคือเหรียญเงินกับเหรียญทองแดง จากนั้นทีมว่ายน้ำไทยชุดใหญ่จะมีชื่อ เจนจิรา ศรีสอาด เป็นตัวหลักทุกชุดนับตั้งแต่นั้นมาไม่ว่าจะเป็น ซีเกมส์, เอเชียนเกมส์ หรือ เอเชียนอินดอร์ฯ ซึ่งรายการหลังก็เคยยืนแท่นคว้าเหรียญทองมาแล้ว
ทว่าเส้นกราฟชีวิตนักว่ายน้ำทีมชาติดิ่งลงอีกครั้งในซีเกมส์ 2015 เนื่องจากตอนนั้น เจนจิรา ไม่ใช่ดาวรุ่งเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพราะเธอกลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ของสระไทยที่นักว่ายน้ำรุ่นหลังยกให้เป็นไอดอล ซึ่งก็ไม่น่าจะมีอะไรมาทำให้เธอมีความคิดจะเลิกว่ายน้ำ แต่ก็มีอีก 1 เหตุการณ์ที่ทำลายความมั่นใจของ “เงือกจอย” พังทลายลงไปนั้นก็คือการพลาดเหรียญรางวัลในการว่ายเดี่ยวของตัวเองที่ลงแข่งขัน ทั้งที่ก่อนไปซีเกมส์หนนั้นเธอมั่นใจมากกับการว่ายรายการเดี่ยวของตัวเองถึงไม่ได้เหรียญทองก็น่าจะมีเหรียญใดเหรียญหนึ่งติดมือมาได้ ซึ่งนั่นก็ไม่เกิดขึ้นกับ “เงือกจอย” และเธอก็จมดิ่งกับความผิดหวัง
แต่แล้วสายลมวูบที่คุ้นเคยในปี 2009 ก็พัดเข้ามาเตือนใจ “เงือกจอย” อีกครั้ง เธอทิ้งความผิดหวังทุกอย่างแล้วเดินหน้าสู้ต่อไป และหลังจากจบซีเกมส์ 2015 สมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทยได้จ้างโค้ชว่ายน้ำชาวอังกฤษที่ชื่อว่า “ไซม่อน โจนส์” ให้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมว่ายน้ำทีมชาติไทยในการฝึกนักกีฬากลุ่มโอลิมปิก ริโอ 2016 กับ ซีเกมส์ 2017 และแน่นอนว่าเมื่อ “เงือกจอย” ยืนยันจะสู้ต่อ ก็มีชื่อในชุดใหญ่ที่ ไซม่อน เป็นผู้ดูแล
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ ไซม่อน โจนส์ เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนว่ายน้ำทีมชาติไทยในตอนนั้นคือการยกเครื่องใหม่ให้ทีมสระไทยและยังเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับ เจนจิรา ศรีสอาด กลับมาเป็นเงือกไอดอลด้วยการเริ่มทำลายสถิติของตัวเองในการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถ้าจะยกตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือซีเกมส์ 2017 ที่คว้าเหรียญในรายการเดี่ยวของตัวเองได้อีกครั้ง
จากนั้นเป็นต้นมา “เงือกจอย” เจนจิรา ศรีสอาด ก็มาฝากตัวเป็นศิษย์กับ ไซม่อน โจนส์ ที่ BEST Bangkok Swim Academy และด้วยคอนเนคชั่นของโค้ชชาวอังกฤษรายนี้ได้ทำเรื่องเสนอให้สมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทยส่ง เจนจิรา ไปฝึกกับ อาริลซัน ซิลวา โค้ชชาวบราซิล ที่อยู่ฮังการี เพื่อให้เธอได้เรียนรู้การสปรินท์เพิ่มขึ้น และสมาคมว่ายน้ำก็ไม่ขัดศรัทธาเซ็นอนุมัติทันทีเพื่อให้ทันกับการแข่งขันซีเกมส์ 2019 รวมไปถึงการควอลิฟายโอลิมปิก 2020
เชื่อไหมว่าทุกครั้งที่ “เงือกจอย” คิดจะเลิกเล่นว่ายน้ำ แต่ก็เปลี่ยนใจกลับมาสู้อีก มักจะมีสิ่งดีๆตามมาเสมอ และครั้งนี้ก็เช่นกันเมื่อเพื่อนๆในกลุ่มคลาสออฟ 38 ทยอยกันอำลาสระ เจนจิรา ก็เกือบจะตามไป แต่โชคดีที่เจอ ไซม่อน โจนส์ มอบความหวังและโอกาสในการไปโอลิมปิก ทั้งการไปซ้อมต่างประเทศลำพังตัวคนเดียว ไปหาแรงบัลดาลใจต่างแดน พบเจออะไรใหม่ๆ ตรงนั้นเองที่คาดว่าเป็นจุดสำคัญของการทำเวลาผ่านเกณฑ์บีของสหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติในการไปแข่งโอลิมปิก 2020 ครั้งแรกในชีวิตของ เจนจิรา ศรีสอาด
“การที่หนูประสบความสำเร็จในฐานะนักกีฬาคือการที่ช่วงชีวิตได้มีส่วนร่วมกับทัพนักกีฬาไทยในการแข่งขันโอลิมปิก คนแรกที่หนูถือว่าเป็นคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตคือ อ.ปิติพัฒน์ รัตนศรีเกียรติ ที่เป็นผู้ประสิทธิประสาทวิชาพื้นฐานการว่ายน้ำจนแข็งแรงพร้อมออกไปหาประสบการณ์และความรู้ใหม่ๆด้วยตัวเอง ฉะนั้นการที่หนูประสบความสำเร็จได้ทุกวันนี้ อ.ปิติพัฒน์ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง” นี่คือถ้อยคำที่ เจนจิรา กล่าวถึงครูผู้มีพระคุณต่อชีวิตนักกีฬาว่ายน้ำ
หลายคนสงสัยว่า “ลม” ที่พัดเข้ามาในยามที่ เจนจิรา ท้อแท้คืออะไร ซึ่งคำตอบก็คือ ลมวูบที่หนึ่งคือความฝันพ่อที่เป็นคนชื่นชอบกีฬาและอยากเห็นลูกสาวเป็นนักกีฬาทีมชาติ ขณะที่ ลมวูบที่สองคือความหวังของครอบครัวว่ายน้ำไทยที่อยากให้เจนจิราสู้ต่อเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่เยาวชนที่เห็นเธอเป็นไอดอล และ ลมวูบที่สามคือการต้องไปโอลิมปิกให้ได้ในตอนที่ร่างกายยังมีแรง
เรื่องราวของ “เงือกจอย” ที่ผ่านความท้อจนอยากจะเลิกว่ายน้ำมาถึง 3 ครั้งใหญ่ๆ แต่ก็สู้ต่อจนตอนนี้ได้ไปโอลิมปิกครั้งแรกและกลายเป็นนักกีฬาว่ายน้ำความหวังของไทยในการแข่งขันซีเกมส์ที่เวียดนามอีกด้วย
ประวัติ
ชื่อ สิบเอกหญิง เจนจิรา ศรีสอาด
ชื่อเล่น จอย
เกิด 16 เมษายน 2538
อายุ 26 ปี
การศึกษา
จบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนลาซาลกรุงเทพ
จบชั้นมัธยมศึกษาจาก โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว
จบปริญญาตรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิเทศศาสตร์
จบปริญญาโท ประศาสนศาสตร์ ม.เกษมบัณฑิต
ปัจจุบัน รับราชการ กองการออมทรัพย์ กรมสวัสดิการทหารบก
ผลงานที่โดดเด่น
ซีเกมส์
1 เหรียญเงิน, 1 เหรียญทองแดง ซีเกมส์ 2011
1 เหรียญทอง, 1 เหรียญทองแดง ซีเกมส์ 2013
1เหรียญเงิน ซีเกมส์ 2015
2 เหรียญเงิน, 1 เหรียญทองแดง ซีเกมส์ 2017
3 เหรียญเงิน, 1 เหรียญทองแดง ซีเกมส์ 2019
เอเชี่ยนอินดอร์ฯ
2 เหรียญทอง, 1 เหรียญเงิน เอเชียนอินดอร์ฯ 2013
2 เหรียญทอง, 2เหรียญเงิน, 1เหรียญทองแดง 2017
เอเชียนเกมส์
อันดับ 9 เอเชียนเกมส์ 2014
อันดับ 9 เอเชียนเกมส์ 2018
เจ้าของสถิติประเทศไทย
ฟรีสไตล์ 50 ม.เวลา 25.32 วินาที
กบ 50 ม. เวลา 31.41 วินาที
ผีเสื้อ 50 ม.เวลา 26.64 วินาที
Add friend ที่ @Siamsport