เขียนวันที่
วันเสาร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09:54 น.
“…อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องยากที่เด็กวัย 10 ขวบซึ่งมีปัญหาการฟังและแข้งขาไม่ปกติจะต้องวิ่งให้ตรงลู่เหมือนกับคนปกติได้ โซ้ว หว่าไหว จึงต้องฝึกซ้อมอย่างหนักทุกวันจนกระทั่งดึกดื่น หลังเลิกเรียนแม่จะพามาซ้อมและเฝ้าอยู่จนเลิก ลูกพูดกับแม่อย่างติดตลกว่า “แม่ครับ คอยดูนะ สักวันหนึ่ง หนูจะต้องวิ่งให้เร็วกว่ารถไฟ” และในที่สุด เขาก็ทำได้ดังฝัน ในการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกที่แอตแลนต้า ในปี 1996 โซ้ว หว่าไหวด้วยวัยเพียง 15 ปี เป็นนักวิ่งไม้สุดท้ายในการวิ่งผลัด 4×100 เมตรชายกลุ่ม T34-T37 สามารถกวดไล่แซงคู่แข่งจนเข้าเส้นชัย เป็นคนแรก คว้าเหรียญทองเหรียญแรกในกีฬาพาราลิมปิกให้กับฮ่องกง และโซ้ว หว่าไหว ประสบความสำเร็จในการแข่งขันพาราลิมปิกครั้งต่อมาอีก 4 หน สามารถคว้าเหรียญพาราลิมปิกทั้งหมด 12 เหรียญ (ทอง 6 เงิน 3 ทองแดง 3) ก่อนประกาศอำลาลู่วิ่งในการแข่งขัน พาราลิมปิกที่มหานครลอนดอนในปี 2012…”
ในการแข่งขันพาราลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง เมื่อปี 2008 รายการวิ่งชายเดี่ยว 200 เมตรกลุ่ม T36 ฮ่องกงกลายเป็นเกาะไร้ผู้คนบนท้องถนน เพราะทุกคนกำลังเฝ้าอยู่หน้าจอโทรทัศน์อย่างใจจดใจจ่อส่งกำลังใจเชียร์ โซ้ว หว่าไหว (So Wa Wai) “เด็กอัศจรรย์” (Wonder Boy) ซูเปอร์ฮีโร่
โซ้ว หว่าไหว เป็นชาวฮ่องกง เกิดในครอบครัวชนชั้นกรรมาชีพ เมื่อปี 1981 อาศัยอยู่ในแฟลตแคบ ๆ พ่อแม่ใช้แรงงานหารายได้ เลี้ยงชีวิตพอกินในแต่ละวัน ซ้ำร้ายโซ้ว หว่าไหว เกิดมาเป็นเด็กพิการทางสมอง (cerebral palsy) มีปัญหาในการรับฟังและแข้งขาอ่อนแรง แพทย์วินิจฉัยว่าเขาอาจจะลุกเดินไม่ได้ ไม่ง่ายเลยที่พ่อแม่จะทำใจได้ ทำทุกวิถีทางที่จะเลี้ยงดูลูกให้กลับมาเป็นปกติ แม่หอบหิ้วลูกไปที่ทำงานเพราะที่บ้านไม่มีใครคอยดูแล พยายามกระตุ้นให้ลูกลุกขึ้นมาเดินให้ได้ ด้วยการส่งสัญญาณใช้สองนิ้วแตะที่ลูกตาตัวเอง แล้วยื่นกลับไปหาลูกในระดับสายตา พร้อมบอกว่า “แม่กำลังจ้องดูลูกอยู่นะ” (I am watching you) ทำแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนโซ้ว หว่าไหว ลุกขึ้นมาเดินได้อย่างน่าอัศจรรย์[1]
ความพิการของโซ้ว หว่าไหว กลายเป็นเหยื่อให้ถูกกลั่นแกล้งจากเด็ก ๆ ในแฟลต บ่อยครั้งต้องวิ่งหนีเอาตัวรอดอย่างสุดชีวิต จนแม่สังเกตเห็นว่า ลูกชายคนนี้วิ่งเร็วเหลือเกิน พวกที่คอยรังแกไม่มีใครวิ่งตามได้ทัน เธอจึงพาลูกชายไปสมัครวิ่งแข่งกีฬาคนพิการ เมื่อ ปูน กิน ลุย (Poon Kin-Lui) โค้ชกรีฑาพาราลิมปิกเห็นแววดี จึงตกลงรับเข้าร่วมทีม
อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องยากที่เด็กวัย 10 ขวบซึ่งมีปัญหาการฟังและแข้งขาไม่ปกติจะต้องวิ่งให้ตรงลู่เหมือนกับคนปกติได้ โซ้ว หว่าไหว จึงต้องฝึกซ้อมอย่างหนักทุกวันจนกระทั่งดึกดื่น หลังเลิกเรียนแม่จะพามาซ้อมและเฝ้าอยู่จนเลิก ลูกพูดกับแม่อย่างติดตลกว่า “แม่ครับ คอยดูนะ สักวันหนึ่ง หนูจะต้องวิ่งให้เร็วกว่ารถไฟ” และในที่สุด เขาก็ทำได้ดังฝัน ในการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกที่แอตแลนต้า ในปี 1996 โซ้ว หว่าไหวด้วยวัยเพียง 15 ปี เป็นนักวิ่งไม้สุดท้ายในการวิ่งผลัด 4×100 เมตรชายกลุ่ม T34-T37 สามารถกวดไล่แซงคู่แข่งจนเข้าเส้นชัย เป็นคนแรก คว้าเหรียญทองเหรียญแรกในกีฬาพาราลิมปิกให้กับฮ่องกง และโซ้ว หว่าไหว ประสบความสำเร็จในการแข่งขันพาราลิมปิกครั้งต่อมาอีก 4 หน สามารถคว้าเหรียญพาราลิมปิกทั้งหมด 12 เหรียญ (ทอง 6 เงิน 3 ทองแดง 3) ก่อนประกาศอำลาลู่วิ่งในการแข่งขัน พาราลิมปิกที่มหานครลอนดอนในปี 2012
หากไม่ใช่เป็นนักกีฬาพาราลิมปิก ความสำเร็จของโซ้ว หว่าไหว คงจะได้ชื่อเสียงและเงินทองมากมาย แต่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม ภาพยนตร์เรื่อง Zero To Hero ที่เพิ่งออกฉายผ่าน Netflix ในวันสุดท้ายของการแข่งขันพาราลิมปิกโตเกียวเกมส์ 2020 ที่สร้างจากชีวิตจริงของโซ้ว หว่าไหว ได้สะท้อนมุมมองของความเป็นนักสู้ เพื่อจะบอกว่า ความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นหรือความ ทะเยอทะยาน แต่หากขึ้นอยู่กับความรัก ความผูกพัน และความศรัทธาเชื่อมั่นของแม่กับลูกต่างหาก ครอบครัวโซ้ว หว่าไหวตระหนักดีว่า การจะทำให้สังคมยอมรับเพื่อความอยู่รอดจะต้องใช้ความพยายามทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้กับลูกชายคนนี้ พ่อแม่ต้องทำงานหนัก แม่รับงานถึง 4 จ็อบในแต่ละวัน ขณะที่ คี ไหว (Ki Wai) น้องชายต้องยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อพี่ จนต่อมา พ่อประสบอุบัติเหตุเข้าโรงพยาบาล คี ไหว ขโมยเหรียญรางวัลไปขาย แม่จับได้ ด่าว่าลูกชายอย่างเกรี้ยวกราดว่า “ทำไม แกถึง
ทำอย่างนี้ รู้หรือเปล่าว่า กว่าพี่จะได้เหรียญมาคล้องคอ ต้องแลกกับหยาดเหงื่อมากแค่ไหน” แต่แม่ต้องตะลึงงันเมื่อ คี ไหว ตอบกลับว่า “ใช่ครับ ผมมันเป็นคนแย่ แม่เคยคิดบ้างไหมว่า ผมก็เป็นลูกแม่คนหนึ่ง แต่แม่ไม่เคยสนใจผมเลย ไม่เคยรู้ว่าผมชอบกินอะไร ทุกครั้งที่เราไปกินข้าวนอกบ้านผมได้กินแต่อาหารที่เหลือในจานของพี่ แม่เคยบอกให้ผมเลิกเล่นบาสเกตบอล แม่ไม่รู้หรือครับว่าผมไม่เคยเล่นบาสเกตบอล ผมเล่นฟุตบอล ที่ผมต้องนำเหรียญไปขายก็เพราะจะเอาเงินมาดูแลครอบครัวเรา ชีวิตผมถูกกำหนดให้มาดูแลพี่เท่านั้นหรือ” แม่สะเทือนใจ จนร้องไห้และเข้าใจได้ทันทีว่า “การวิ่งบนลู่เป็นเรื่องง่าย เพราะเพียงวิ่งไปข้างหน้าบนเส้นทางที่กำหนดไว้ แต่การวิ่งในชีวิตจริงนั้น ไม่ง่ายเลย”[3]
ในที่สุดครอบครัวโซ้ว หว่าไหว ก็ตื่นขึ้นมาสู่โลกความเป็นจริง ยินยอมให้โซ้ว หว่าไหว หยุดฝึกซ้อมวิ่ง ออกหางานทำช่วยเลี้ยงดูครอบครัว พร้อม ๆ กับเติมเต็มความรักให้กับคี ไหว ลูกชายคนเล็ก แต่โชคยังเข้าข้าง ได้ไปพบกับแอนดี้ หลิว (Andy Lau) นักร้องชาวฮ่องกงที่เตรียมตัวจะไปร้องเพลง Flying with the Dream ในกีฬาพาราลิมปิกที่นครปักกิ่งปี 2008 ได้ฝากสปอนเซอร์ให้ช่วยสนับสนุนโซ้ว หว่าไหว เพื่อสามารถเตรียมตัวฝึกซ้อมเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ได้ แต่ในบรรยากาศแปลกไปกว่าครั้งก่อน ๆ แม่ไม่ได้มาเฝ้าดูการซ้อมเพื่อจะให้ลูกรับรู้ว่า จากนี้เขาต้องพึ่งพาตนเอง และคิดจะตัดสินใจไม่เดินทางไปให้กำลังใจลูกชายในช่วงการแข่งขันเหมือนทุกครั้ง
และแล้วการแข่งขันพาราลิมปิกที่นครปักกิ่งก็เริ่มขึ้น ในการวิ่ง 2 ประเภทแรกของโซ้ว หว่าไหวไม่เป็นไปตามความคาดหวัง การวิ่งเดี่ยวประเภท 100 เมตรชายได้เพียงรางวัลเหรียญทองแดง ขณะที่ การวิ่งประเภท 400 เมตรชายตกลงมาเป็นที่ 6 จนมาถึงความหวังสุดท้ายคือการแข่งขันประเภทวิ่งเดี่ยว 200 เมตรชายของกลุ่ม T36 เธอตัดสินใจฉับพลันว่าต้องรีบเดินทางไปพบลูก ลูกดีใจ เป็นที่สุดเมื่อเห็นแม่ กำลังใจมาร้อยเปอร์เซ็นต์ บอกแม่ว่า “แม่ไม่ต้องห่วงหรอก หนูเคยบอกแม่แล้วว่า หนูจะต้องวิ่งได้เร็วกว่ารถไฟ เพราะหนูมี Wonder Mom” แม่สวนกลับอย่างตื้นตันใจว่า “ถึงลูกจะเดินช้ากว่าคนอื่น แต่ลูกก็วิ่งได้เร็วกว่าเขา แม่เข้าใจดีว่าการเป็นคนพิการมันยากลำบากแค่ไหน แต่ลูกรู้ไหมว่า การเป็นแม่คนพิการก็ลำบากมากเหมือนกันนะลูก เพราะฉะนั้น ลูกจ้องมา ที่ตาแม่นะ และก็บอกกับตัวเองว่า “เตรียมตัว! ไป!” (set, go)”
เมื่อโซ้ว หว่าไหว เข้าจุดสตาร์ทลู่วิ่ง ก็ตัดสินใจเอาเครื่องฟังเสียงออก นึกถึงแต่ดวงหน้าแม่ที่คอยส่งสัญญาณว่า “แม่กำลังจ้องดูลูกอยู่นะ” และพูดกับตัวเองว่า “เตรียมตัว! ไป!” ก่อนทะยานออกจากลู่ ตะปึงวิ่งจนสามารถคว้าเหรียญทองทำลายสถิติ ด้วยเวลา 24.65 วินาที ถือเป็นสถิติโลกที่ปัจจุบันยังไม่มีนักกีฬาคนใดทำได้ และแล้วผู้คนก็ผละออกจากจอโทรทัศน์วิ่งออกมาโห่ร้อง ยินดีปรีดากันทั่วท้องถนน
เรื่องราวชีวิตของโซ้ว หว่าไหว น่าจะทำให้พวกเราได้เรียนรู้ว่า “ชีวิตคนเรามักจะไปผูกติดความสำเร็จอยู่กับความมุ่งมั่นและความทะเยอทะยาน จนลืมนึกถึงว่า ในชีวิตจริงความสำเร็จจะต้องมาจากความรัก ความผูกพัน และความศรัทธาอีกด้วย”
แหล่งที่มา:
[1] Netflix, O. and นักวิ่งเหรียญทองพาราลิมปิก, ร., 2021. Zero to Hero netflix รีวิว หนังฮ่องกง แชมป์วิ่งพาราลิมปิก. [online] Playinone. Available at: <">https://www.playinone.com/zhaoyun/zero-to-hero-netflix-2021-movie-review/> [Accessed 20 November 2021].
[2] En.wikipedia.org. 2021. So Wa Wai – Wikipedia. [online] Available at: <">https://en.wikipedia.org/wiki/So_Wa_Wai> [Accessed 20 November 2021].
[3] Ready Steady Cut. 2021. Zero To Hero (2021) ending explained – mother’s love. [online] Available at: <">https://readysteadycut.com/2021/11/05/zero-to-hero-2021-ending-explained-netflix-film/> [Accessed 20 November 2021].