เก็บตกสถิติน่าสนใจก่อนเปิดฉากรอบน็อกเอาต์ ยูโร 2020
คืนนี้ (26 มิ.ย.) ศึกฟุตบอล ยูโร 2020 จะเข้าสู่การแข่งขันรอบ 16 ทีมสุดท้ายแล้ว เพื่อเป็นการโหมโรงก่อนเริ่มดวลแข้งรอบน็อกเอาต์ ลองไปย้อนดูสถิติน่าสนใจหลายอย่างจากรอบแบ่งกลุ่ม ที่บอกถึง “คาแรกเตอร์” ของทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปหนนี้เมื่อเปรียบเทียบกับครั้งที่ผ่านๆ มา
ราชาทำประตู
จาก 36 แมตช์ที่แข่งขันกันในรอบแบ่งกลุ่ม มีการทำประตูกันรวม 94 ประตู เฉลี่ยแล้วตกนัดละ 2.62 ประตู
เนเธอร์แลนด์ เป็นทีมที่ทำประตูคู่แข่งได้มากที่สุด รวม 8 ประตู ขณะที่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ กัปตันทีมชาติโปรตุเกส เป็นนักเตะที่ทำประตูสูงสุด 5 ประตู นำดาวลซัลโวอยู่ในขณะนี้
พยายามแล้วแต่ทำไม่ได้
เดนมาร์ก เป็นทีมที่พยายามลุ้นทำประตูมากที่สุด ยิงไป 61 ครั้ง ตรงกรอบ 22 ครั้ง เข้าประตู 5 ลูก
ขณะที่ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ กองหน้ากัปตันทีมชาติโปแลนด์ ทำสถิติรายบุคคลสูงสุด พยายามยิง 12 ครั้ง และเป็นประตู 3 ครั้ง
ว่าด้วยการแอสซิสต์
นักเตะที่แอสซิสต์มากที่สุดหลังจบการแข่งขันรอบแรกมี 2 คน คือ ปิแอร์-เอมิล ฮอยเบิร์ก ของเดนมาร์ก และ สตีเว่น ซูเบอร์ ของสวิตเซอร์แลนด์ ต่างทำได้ 3 ครั้งเท่ากัน และยังได้ไปต่อในรอบน็อกเอาต์
กระทิงครองบอลมากสุด
สเปน ของกุนซือ หลุยส์ เอ็นริเก้ ยึดปรัชญาการครองบอลบุก ด้วยสถิติครองบอลรวม 3 นัด 68.7 เปอร์เซ็นต์ มากที่สุดใน 24 ทีม
ขณะที่ ฮังการี ซึ่งเป็นทีมรองของ “กลุ่มแห่งความตาย” ที่มีทั้ง ฝรั่งเศส, เยอรมนี, โปรตุเกส ต้องเน้นแผนตั้งรับ รอจังหวะสวนกลับ ซึ่งก็เกือบได้ผล แต่ก็ทำให้พวกเขามีเปอร์เซ็นต์ครองบอลต่ำที่สุดในรอบแรก 34.7 เปอร์เซ็นต์
ความแม่นยำของอินทรีเหล็ก
ว่ากันด้วยสถิติการผ่านบอลที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการแข่งขันรอบแรก ต้องยกให้ เยอรมนี ที่ผ่านบอลสำเร็จ 89.7 เปอร์เซ็นต์ ตามด้วย เบลเยียม และ ฝรั่งเศส ต่างทำได้ 89 เปอร์เซ็นต์เท่ากัน
แต่ถ้าวัดกันที่ตัวบุคคล เป็น อายเมอริค ลาปอร์ต กองหลังทีมกระทิงดุที่ผ่านบอลให้เพื่อนร่วมทีมสำเร็จถึง 98.3 เปอร์เซ็นต์ เป็นสถิติสูงสุด
“อัซซูรี่-สิงโตคำราม” ยังไม่โดนเจาะ
ความที่หลายเกมยิงกันอุตลุดทำให้ตอนนี้เหลือเพียง จานลุยจิ ดอนนารุมม่า นายทวารอิตาลี และ จอร์แดน พิคฟอร์ด ของทีมชาติอังกฤษ ที่ยังไม่เสียประตูให้คู่แข่ง
ขณะที่ ตุรกี กับ นอร์ธ มาซิโดเนีย เจ็บหนักสุด ต่างโดนยิงชาติละ 8 ประตู โดย อูกูร์คาน ซาคีร์ นายทวารทีมไก่งวง ต้องออกแรงเซฟมากที่สุด รวม 18 ครั้ง
จอมเก็บบอล
สถิติ “บอล รีคัฟเวอรี่” คือการเข้าไปเก็บบอลที่คู่แข่งทำเสีย (ไม่ใช่การเข้าแย่งบอล) หรือบอลที่ไม่มีใครครอบครองอยู่ การเข้าไปรีคัฟเวอร์บอลได้ หมายถึงโอกาสที่ทีมจะได้คุมเกมง่ายขึ้น ซึ่งนักเตะที่ทำหน้าที่เก็บบอลส่วนนี้ได้ดีที่สุดคือ สเตฟาน เดอ ฟราย กองหลังจากอินเตอร์ มิลาน ของอัศวินสีส้ม ทำได้รวม 29 ครั้ง
นักวิ่ง
อเล็กซานเดอร์ โกโลวิน กองกลางทีมชาติรัสเซีย คือนักเตะที่วิ่งรวมระยะมากที่สุดในการแข่งขันรอบแบ่งกลุ่ม คิดเป็นระยะทางถึง 36 กิโลเมตร
และไม่น่าแปลกใจที่ รัสเซีย เป็นทีมที่วิ่งระยะรวมมากที่สุดในรอบแรก เฉลี่ยนัดละ 119,359 เมตร
ส่วนนักเตะที่วิ่งเร็วที่สุดในทัวร์นาเมนต์คือ โลอิช เนโก้ ของฮังการี และ เลโอนาร์โด สปินาซโซล่า ของอิตาลี ซึ่งมีความเร็วเฉลี่ย 33.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ยูโรแห่งครึ่งหลัง
จาก 94 ประตูที่ยิงกันได้ในรอบแรก เกิดขึ้นในช่วงครึ่งเวลาหลังกว่าครึ่ง รวม 59 ประตู ส่วนที่ยิงในครึ่งแรก แค่ 35 ประตู แสดงให้เห็นว่าเกมยิ่งทวีความเข้มข้นเมื่อเข้าสู่ครึ่งหลัง
โดยช่วงเวลาที่มีประตูเกิดขึ้นมากที่สุด คือช่วงนาทีที่ 46 ถึง 60 ซึ่งมีการทำประตูมากถึง 22 ประตู
ยิงตัวเองถล่มทลาย
ว่าด้วยเรื่องการทำประตู แม้ว่าโรนัลโด้จะทำสถิติส่วนบุคคลให้ตัวเองมากมาย อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกกล่าวถึงไม่แพ้กันคือ การทำเข้าประตูตัวเองที่ครั้งนี้แค่ผ่านไป 2 สัปดาห์ในรอบแรก ก็มีการทำเข้าประตูตัวเองไปแล้วถึง 8 ครั้ง ขณะที่ศึกยูโรตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงครั้งก่อน ระหว่างปี 1960-2016 มีการทำเข้าประตูตัวเองรวมกันเพียง 9 ครั้งเท่านั้น อีกแค่ลูกเดียวก็จะเท่าสถิติดังกล่าวแล้ว
เท่านั้นไม่พอ เยอรมนี ยังเป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์การแข่งขันฟุตบอลยูโรที่ทั้งเสียประโยชน์และได้ประโยชน์จากการทำเข้าประตูตัวเองในทัวร์นาเมนต์เดียวกัน หลังจาก มัตส์ ฮุมเมลส์ กองหลังอินทรีเหล็ก สกัดพลาดเข้าประตูตัวเองในนัดเปิดสนามจนทีมพ่ายฝรั่งเศส แต่พอเกมถัดมาเจอกับโปรตุเกสที่ถล่มชัย 4-2 ก็เป็นการทำเข้าประตูตัวเองของคู่แข่งถึง 2 ลูก
เจ้าบ้านได้เปรียบ?
ยูโร 2020 เป็นทัวร์นาเมนต์ที่แตกต่างจากครั้งที่ผ่านๆ มา เนื่องจาก มิเชล พลาตินี่ อดีตประธานสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ออกไอเดียไว้ช่วงเตรียมงานให้เป็นวาระฉลอง 60 ปีของทัวร์นาเมนต์ ด้วยการตระเวนแข่งขันตามเมืองใหญ่ทั่วยุโรป ทำให้มีเจ้าภาพร่วมมากถึง 11 เมือง 11 ประเทศ (จากเดิมที่กำหนดไว้ 12 เมือง)
จาก 11 ชาติที่ได้สิทธิจัดการแข่งขัน มี 9 ทีมที่ได้เล่นในบ้านตัวเอง โดยมีเพียงอิตาลีและเนเธอร์แลนด์ เท่านั้นที่ชนะรอบแรกทั้ง 3 นัดในบ้านตัวเอง
ส่วนเยอรมนี ชนะ 1 เสมอ 1 แพ้ 1 ที่มิวนิก ขณะที่เดนมาร์กแพ้ 2 เกมติด ก่อนจะมาเก็บชัยในนัดสุดท้าย
ขณะที่สเปนหลังจากเสมอมา 2 นัดแรก ต้องรอถึงนัดสุดท้ายกว่าจะเก็บ 3 แต้มได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยสนามเหย้าของสเปนนั้น เดิมกำหนดใช้เมืองบิลเบา แต่ติดปัญหาเรื่องโควิด เลยต้องย้ายไปเซบีย่าแทน แถมสนามที่ใช้คือ เบนิโต บียามาริน สเตเดียม ของสโมสรรีล เบติส ซึ่งสร้างมาเป็นสนามกรีฑาเอนกประสงค์ ไม่ใช่สนามฟุตบอลโดยตรงอีกต่างหาก
ด้านฮังการีได้เตะที่ปุสกัส อารีน่า ในกรุงบูดาเปสต์ สนามบ้านตัวเอง 2 นัด เก็บได้ 1 แต้ม ขณะที่รัสเซียกับสกอตแลนด์ได้เล่นในบ้านชาติละ 2 นัด ต่างก็แพ้ทั้งคู่ โดยในส่วนทีมแดนวิสกี้ที่เก็บแต้มเดียวก่อนตกรอบนั้น ก็เป็นการดวลแข้งกับอังกฤษที่สนามเวมบลีย์ กรุงลอนดอน ไม่ใช่แฮมป์เดนปาร์กของตัวเอง
สิงโตคำรามเป็นทีมที่จะได้ประโยชน์จากการเป็น “เจ้าบ้าน” มากที่สุด กรณีถ้าเข้ารอบลึกมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเวมบลีย์ได้สิทธิจัดมากถึง 8 นัด ซึ่งรวมถึงรอบรองชนะเลิศและชิงชนะเลิศ
…เพราะถ้าไปได้ไกลขนาดนั้น เสียงเชียร์คงถล่มทลายแน่นอน!