ทัพนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย พร้อมสู้ “พาราลิมปิกเกมส์” 73 ชีวิต 14 ชนิดกีฬา หวังไม่ต่ำกว่า 6 ทอง ทัพพาราไทยจะเริ่มเดินทางไปยังกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 17 ส.ค.นี้เป็นต้นไป
นายไมตรี คงเรือง เลขาธิการสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยถึงความเคลื่อนไหวของทัพนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทยก่อนจะเดินทางไปสู้ศึกในมหกรรมกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 16 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในระหว่างวันที่ 24 ส.ค. – 5 ก.ย.64 ว่า ทัพพาราไทยสามารถควอลิฟายผ่านเข้าร่วมการแข่งขันได้ทั้งสิ้น 73 คนจาก 14 ชนิดกีฬา อันประกอบด้วย 1. กรีฑา 2. ยิงปืน 3. ว่ายน้ำ 4. เทเบิล
เทนนิส 5. วีลแชร์เทนนิส 6. ยิงธนู 7. ฟุตบอลคนตาบอด 5 คน 8. ยูโดคนตาบอด 9. ฟันดาบ 10. ยกน้ำหนัก 11. บอคเซีย 12 แบดมินตัน 13. จักรยาน และ 14. เทควันโด ซึ่งทั้ง 14 ชนิดกีฬาต่างแยกย้ายกันเก็บตัวฝึกซ้อมภายใต้โครงการโร้ด ทู โตเกียว ของการกีฬาแห่งประเทศไทยไปในที่ต่างๆ เป็นเวลานานร่วม 4 ปีกว่า อาทิ ศูนย์ฝึกกีฬาของการกีฬาแห่งประเทศไทย, สนามฟุตบอลธูปะเตมีย์ จ.ปทุมธานี, ศูนย์ฝึกกีฬาคนพิการแห่งชาติ จ.สุพรรณบุรี, จ.เพชรบุรี, จ.ประจวบคีรีขันธ์, ศูนย์ฝึกกีฬาของการกีฬาแห่งประเทศไทย อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี และ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นครราชสีมา
พ่อบ้านสมาคมกีฬาคนพิการฯ ได้กล่าวถึงเหล่าชนิดกีฬาความหวังว่า แน่นอนว่า วีลแชร์เรซซิ่งที่เป็นชนิดกีฬาย่อยของกีฬากรีฑาถือเป็นความหวังสูงสุดของทัพพาราไทย หลังจากที่พาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 15 ที่ประเทศบราซิล เมื่อปี 2016 ทัพเรซซิ่งไทยกวาดมาได้ถึง 4 เหรียญทอง จาก พงศกร แปยอ กับ ประวัติ วะโฮรัมย์ คนละ 2 ทอง และในพาราลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ก็ยังมั่นใจว่าทั้งสองยังจะสามารถกลับไปป้องกันแชมป์คว้าทั้ง 4
เหรียญทองกลับมาได้อีกสมัย นอกจากนี้ทัพเรซซิ่งไทยยังมีดาวรุ่งที่น่าจับตามองเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งคนคือ อธิวัฒน์ แพงเหนือ ที่เพิ่งไปสปีดทำลายสถิติพาราลิมปิกเกมส์มาได้จากรายการเวิลด์ กรัง ปรีซ์ ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ดังนั้นมองว่าวีลแชร์เรซซิ่งไทยมีโอกาสได้เหรียญทองมากกว่าหนที่แล้วเสียด้วยซ้ำ
ด้านกีฬาเทเบิลเทนนิสก็เป็นอีกชนิดกีฬาที่มีตัวความหวังอย่าง รุ่งโรจน์ ไทยนิยม ที่คว้าเหรียญทองแดงได้จากประเภทชายเดี่ยวครั้งที่แล้ว โดยปีนี้เจ้าตัวจะสามารถร่วมแข่งประเภททีมเพิ่มอีกหนึ่งรายการเป็นครั้งแรก เพราะมีนักกีฬาเพื่อนร่วมทีมที่สามารถควอลิฟายน์มาร่วมทีมด้วยกันได้ อีกทั้งยังมี ยุทธจักร กลิ่นบานชื่น กับ อนุวัฒน์ ลาววงษ์ สองหนุ่มประเภทชายคู่ที่คว้าเหรียญทองแดงได้จากครั้งที่แล้ว ทั้งหมดที่กล่าวมานี้สามารถหวังเหรียญทองที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ได้ทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมี สายสุนีย์ จ๊ะนะ จากกีฬาฟันดาบที่คว้าเหรียญเงินได้จากพาราลิมปิกเกมส์ครั้งที่แล้วและเป็นมืออันดับ 1 ของโลกจากประเภทดาบเอเป้, หาญฤชัย เนตรศิริ เหรียญเงินครั้งที่แล้วจากกีฬายิงธนู, ขวัญสุดา พวงกิจจา สาวน้อยจากกีฬาเทควันโดที่เพิ่งมีบรรจุในพาราลิมปิกเกมส์ครั้งแรกในปีนี้, อำนวย เวชวิฐาน กับ สุจิรัตน์ ปุกคำ สองสาวแชมป์โลกประเภทหญิงคู่จากกีฬาแบดมินตัน และ บอคเซียที่สามารถคว้าได้ 2 เหรียญทองครั้งที่แล้วนำมาโดย วัชรพงศ์ วงษา กลุ่มนักกีฬาทั้งหมดนี้ต่างฟิตพร้อมเป็นอย่างดีและต่างมุ่งหวังที่จะไปกระชากเหรียญทองมาให้แก่คนไทย
“สำหรับการตั้งความหวังนั้น ด้วยการที่พาราลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ทางการกีฬาแห่งประเทศไทยได้จัดตั้งโครงการ “โร้ด ทู โตเกียว” เป็นครั้งแรกอย่างที่พาราลิมปิกเกมส์สมัยไหนๆ ไม่เคยมี ซึ่งได้ทำให้ทัพนักกีฬาคนพิการไทยได้รับงบประมาณการสนับสนุนการเก็บตัวฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ ปีๆ หนึ่งมีรายการให้นักกีฬาออกไปแข่งขันในต่างแดนมากกว่า 50 รายการ อีกทั้งระยะเวลาเก็บตัวก็นานกว่าเดิมจากที่เมื่อก่อนจะได้รับระยะเวลา
เก็บตัวฝึกซ้อมก่อนมหกรรมเพียง 6 เดือน แต่ด้วยโครงการครั้งนี้ได้รับระยะเวลายาวนานขึ้นถึง 3 ปี บวกกับที่ประเทศไทยต้องพบกับสถานการณ์ไวรัสระบาด ทำให้ได้รับระยะเวลาเก็บตัวฝึกซ้อมนานขึ้นอีกเป็น 4 ปีกว่า ดังนั้นด้วยปัจจัยตามที่กล่าวมาทางสมาคมฯ จึงตั้งเป้าว่ามาตรฐานผลงานของทัพพาราไทยในพาราลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ต้องไม่ต่ำกว่าครั้งที่แล้ว ซึ่งครั้งที่แล้วทัพไทยคว้ามาได้ 6 เหรียญทอง 6 เหรียญเงิน 6 เหรียญทองแดง และคาดหวังที่จะให้พวกเขาทำผลงานได้สูงกว่าเดิมด้วย” นายไมตรีกล่าว
ทั้งนี้ทัพพาราไทยจะเริ่มเดินทางไปยังกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 17 ส.ค.นี้เป็นต้นไป โดยทัพแรกได้แก่ กีฬาว่ายน้ำ, เทเบิลเทนนิส และ ฟันดาบ ออกเดินทางเวลา 10.55 ด้วยสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ เจแอล034