ทุกครั้งที่มีการแข่งขัน “กีฬาโอลิมปิก” คนทั้งโลกจะสนใจและเพ่งเล็งไปที่นักกีฬา แต่คนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์การกีฬาและแพทย์ มักจะจดจ่อเรื่องความสามารถและความล้มเหลวของผู้เข้าแข่งขัน กีฬาโอลิมปิกจึงเปรียบเสมือนกิจกรรมทดลองวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่มาก เพราะต้องใช้คนเป็นจำนวนมากนับหมื่นหรือแสนคน เพื่อให้รู้ชัดว่า โครงการฝึกนักกีฬาในรูปแบบใดจะนำมาซึ่งความสำเร็จ และอุปกรณ์ไฮเทคชนิดใดจะช่วยให้กล้ามเนื้อของร่างกายทำงานได้ดีที่สุด ด้านนักโภชนาการก็ต้องการจะรู้ว่า อาหารชนิดใดที่นักกีฬาควรได้บริโภค จึงจะประสบความสำเร็จสูงสุดด้วย
ในภาพรวมการแข่งกีฬาโอลิมปิก จึงเป็นการแสดงออกของนักกีฬาอัจฉริยะทั้งหลายที่ต่างก็พยายามผลักดันร่างกายของตนให้มีความสามารถสูงสุด ดังนั้นคนบางคนอาจจะต้องฝึกตัวเองหนักและนานมาก และบางคนอาจแอบใช้ฮอร์โมนหรือสารกระตุ้น ด้านนักวิจัยกีฬาก็มีความสนใจเรื่องสภาพแวดล้อมของสนามแข่งขันว่า มีผลกระทบต่อร่างกายของนักกีฬาเช่นไร นอกจากนี้สภาพร่างกายของนักกีฬาจะเอาชนะกฎเกณฑ์หรือขีดจำกัดตามธรรมชาติได้หรือไม่
ขณะที่การแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายกลางสนามกีฬาเป็นเรื่องที่คนทั้งโลกได้เห็น แต่ก็มีการแข่งขันอย่างเอาจริงเอาจังอีกประเภทหนึ่งที่กระทำกันในที่ลับ โดยมีคนร่วมรู้เพียงไม่กี่คน นั่นคือ การต่อสู้ระหว่างนักกีฬาที่ใช้สารกระตุ้นกับนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับมอบหมายให้ต่อต้านการใช้ยาโด๊ป เช่น anabolic steroid , testosterone , growth- hormone , erythropoietin ฯลฯ ซึ่งอาจจะแฝงอยู่ในรูปของยาสุขภาพหรือสารอาหาร คือ มิใช่เป็นยาที่นักกีฬาบริโภคโดยตรง
เพื่อให้การแข่งขันทุกครั้งดำเนินไปอย่างขาวสะอาด และปราศจากมลทินใด ๆ คณะกรรมการโอลิมปิกสากลจึงได้จัดตั้งองค์การ The World Anti-Doping Agency (WADA) เพื่อจัดการเรื่องนี้ เมื่อปี 1999 โดยจัดให้มีการตรวจสอบที่เป็นมาตรฐาน และให้องค์การกีฬาในทุกประเทศลงนามรับรู้ว่า สารกระตุ้นต้องห้ามมีชนิดใดบ้าง รวมถึงให้รู้ด้วยว่า ถ้านักกีฬาคนใดถูกจับได้ นักกีฬาคนนั้นก็จะถูกห้ามลงแข่งขันเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี
แต่การตัดสินเรื่องนี้ ก็ใช่ว่าจะทำได้โดยง่าย เพราะในกรณีนักกีฬากินอาหารที่มีสารกระตุ้นแฝงอยู่ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้ระดับโปรตีน กรดอะมิโน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน เกลือแร่ และเกลือธรรมดาในร่างกายอยู่ในสมดุล แต่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์สำหรับเรื่องนี้ นอกจากจะมีน้อยแล้ว ยังไม่พบว่าสารกระตุ้นจะเป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างไรในระยะยาวด้วย
ตามปกตินักกีฬาโอลิมปิก มักจะต้องนำปัสสาวะไปให้คณะกรรมการตรวจสอบก่อนเข้าแข่งขัน เพราะสารกระตุ้นที่ WADA ห้าม มีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นนักกีฬาจึงมีปัญหาในการจะรู้ว่า อาหารหรือเครื่องดื่มที่ตนบริโภคมีสารต้องห้ามหรือไม่ เช่นในกรณียาแก้ไอ ซึ่งมีสาร ephedrine และ pseudoephedrine ปน มักจะทำให้การตรวจสอบระบุว่า นักกีฬาได้บริโภคสารกระตุ้นเข้าร่างกาย และเมื่อยาที่ใช้ในแต่ละประเทศมีชื่อเรียกที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นนักกีฬาจึงต้องมีความรู้ด้านเภสัชวิทยาบ้าง เวลาจะซื้อยามาบริโภค
แต่ความรู้เหล่านี้ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก เพราะถ้าผิดพลาดไปแม้แต่น้อย WADA ก็จะตัดสินว่าผิด เพราะถือว่านักกีฬาทุกคนต้องรับผิดชอบในทุกสิ่งทุกอย่างที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบในร่างกายของตน ไม่ว่าสารนั้นจะเข้าไปในร่างกายอย่างจงใจ หรือไม่ก็ตาม
สารอาหารประเภท creatine ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเผาผลาญพลังงานของร่างกายหลังการฝึก ก็เป็นสารแบบเดียวกับ insulin ที่ช่วยนำ glucose ไปสู่เนื้อเยื่อ และ steroid ที่ช่วยทำให้อาการบาดเจ็บของร่างกายหายเร็วขึ้น แต่ WADA ได้กำหนดให้ insulin เป็นสารต้องห้าม แต่ creatin มิได้เป็น ความขัดแย้งนี้จึงทำให้นักกีฬาหลายคนงุนงง ดังนั้น WADA จึงต้องพิจารณาเกณฑ์ขั้นต่ำของการมีสารกระตุ้นอีก และต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบด้วย เพราะทดสอบที่มีราคาแพงและต้องใช้เวลานาน จะทำให้การทดสอบนั้นไม่เหมาะสม ดังเช่นการตรวจสอบเลือดเพื่อหา insulin และ erythropoietin ซึ่งได้เข้ามาแทนที่การตรวจหาสารชนิดเดียวกันในปัสสาวะ การทดสอบนี้จึงไม่เป็นที่นิยมของบรรดานักกีฬาเลย
ณ วันนี้ WADA กำลังพัฒนาวิธีตรวจหา ghrelin ซึ่งเป็นโปรตีนที่กระตุ้น growth- hormone แต่การทดสอบนี้ ก็ยังแพง และยากที่จะตัดสินได้ว่า สิ่งที่วัดได้มาจากธรรมชาติหรือมาจากสารที่นักกีฬาบริโภคเข้าไป กระบวนการทดสอบหายากระตุ้นจะทำให้นักกีฬาที่โกง รู้สึกกลัวการถูกจับได้ แต่ในเวลาเดียวกันก็จะกระตุ้นให้นักกีฬาพยายามหลบหลีกการถูกจับได้ โดยการแสวงหาสารเสริมพลังชนิดใหม่ ๆ มาช่วยเพิ่มสมรรถภาพในการเล่นกีฬาของตน ส่วนบทลงโทษนั้น หลายคนก็ยังคิดว่ายังไม่เด็ดขาดพอ แม้จะถูกกล่าวหาหรือถูกจับได้ นักกีฬาหลายคนก็คิดว่า คนที่ถูกจับได้ ควรถูกห้ามลงแข่งขันในทันที แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่
ดังเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่เพิ่งผ่านมานี้ ได้มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ที่กรุงปักกิ่ง ในประเทศจีน บรรดาผู้เข้าชมกีฬาสเก็ตลีลา (figure skating) ทั้งที่สนามและทั่วโลก ต่างก็คาดหวังจะได้เห็นการแสดงของ Kamila Valieva นักกีฬาสตรีวัย 15 ปี ชาวรัสเซีย ผู้เคยทำสถิติการได้แต้มสูงสุดในการเข้าแข่งขันทุกครั้ง ด้วยลีลาการเล่นที่ผาดโผนเหมือนนักกายกรรม และอ่อนช้อยเหมือนนักบัลเล่ต์ แต่ประเด็นที่จะทำให้คนดูตื่นตาและประทับใจมากที่สุด คือ Valieva สามารถแสดงได้ดีเหมือนนักสเก็ตลีลาผู้ชายที่แข็งแรงกว่าเธอมาก โดยเฉพาะเวลาเธอกระโดดขึ้นสูงแล้วหมุนรอบตัวเองได้ถึง 4 ครั้ง ขณะที่มือทั้งสองข้างเหยียดตรงขึ้นเหนือศีรษะ แล้วลดตัวลงพื้นน้ำแข็ง โดยมิได้กางแขนออก ซึ่งเป็นการแสดงที่ยากมาก เพราะไม่เคยมีนักสเก็ตสตรีคนใดเคยทำได้เลย และความสามารถของเธอเช่นนี้ ได้ทำให้ทุกคนคาดหวังว่า เธอคงจะได้เหรียญทองทั้งประเภทบุคคลและประเภททีม
แต่ก่อนจะถึงวันคริสต์มาสของปี 2021 การตรวจหาสารกระตุ้นในเลือดและปัสสาวะของเธอ ได้แสดงผลว่า มีสารโด๊ป ซึ่งเธอก็ได้ประท้วงคำตัดสิน เพราะการวินิจฉัยของการตัดสินเรื่องนี้จำเป็นต้องใช้เวลานานเป็นเดือน คณะกรรมการโอลิมปิกจึงอนุญาตให้เธอเข้าแข่งขันได้ในเดือนกุมภาพันธ์ และได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง เพื่อสอบสวนเรื่องที่เธอถูกกล่าวหา และประเด็นที่เธอปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านั้น
คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee , IOC) จึงได้ลงมติว่า การแข่งขันสเก็ตลีลาในครั้งนี้ จะไม่มีการประกาศผลใด ๆ จนกว่าคณะกรรมการอุทธรณ์จะมีความเห็น ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกนานหลายเดือนจึงจะรู้ผล และนั่นก็หมายความว่า จะไม่มีการประกาศรายชื่อผู้พิชิตเหรียญในการแข่งขันสเก็ตลีลาประเภททีม (เพราะมี Valieva อยู่ด้วย) และในประเภทบุคคล ถ้ามีเธออยู่ในตำแหน่งที่จะได้รับเหรียญ คือ ได้ที่ 1 , 2 หรือ 3 ก็จะไม่มีการประกาศชื่อผู้ชนะ ความกดดันนี้ได้ทำให้ Valieva เล่นพลาด คือล้มถึง 4 ครั้ง ในการลงแข่งขันประเภทบุคคล เธอจึงได้ตำแหน่งที่ 4 และคณะกรรมการฯ ก็สบายใจ เพราะสามารถประกาศผลการแข่งขันประเภทบุคคลได้
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ จึงยืนยันให้ทุกคนได้เห็นอีกคำรบหนึ่งว่า ตราบใดที่มีการแข่งขันกีฬา (ทั้งระดับชาติหรือระดับโลก) การทุจริตคดโกงที่มีความหลากหลายรูปแบบจะเกิดขึ้นพร้อมกัน และการต่อสู้เชิงวิทยาศาสตร์ระหว่างนักกีฬาที่ใช้สารกระตุ้นกับเจ้าหน้าที่ตรวจจับการลอบใช้สารก็จะเกิดขึ้นทุกครั้งไป
ข่าวการตรวจพบสารกระตุ้นในร่างกายของ Kamila Valieva ได้เป็นเรื่องที่ทำให้คนในวงการทุกคนตกใจ แต่ก็ไม่แปลกใจ เพราะคณะกรรมการโอลิมปิกของรัสเซียได้เคยถูกคณะกรรมการ IOC ตรวจพบการใช้สารกระตุ้นของนักกีฬาชาวรัสเซียอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่เมื่อมีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ที่เมือง Sochi ในประเทศรัสเซีย ในปี 2014 ซึ่งมีผลทำให้นักกีฬารัสเซียหลายคนถูกริบเหรียญ แต่ในการแข่งขันครั้งนั้น เหล่านักกีฬา สเก็ตลีลาไม่ได้ถูกตรวจพบว่าได้ใช้สารกระตุ้นเลย มาคราวนี้วงการนี้ก็ได้ถูกตั้งข้อกังขาว่า มีคนโกงเหมือนกัน
เมื่อถูกตั้งข้อสงสัย ทั้งโค้ช นักกีฬา เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลสุขภาพ ผู้ควบคุมอาหารและความเป็นอยู่ของนักกีฬา รวมทั้งสมาชิกครอบครัว ต่างก็ตกเป็นบุคคลที่ต้องสงสัย ทุกคนได้บ่ายเบี่ยง และตอบเลี่ยงข้อกล่าวหา ด้วยคำแก้ตัวและเหตุผลต่าง ๆ แต่ถ้าจะมองลงไปให้ลึกถึงสาเหตุที่แท้จริงแล้ว ก็จะเห็นว่า การคดโกงหรือการกระทำที่ไม่สุจริตทั้งหลาย ล้วนมาจากสาเหตุหลัก คือ ความต้องการได้ชัยชนะ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จระดับสุดยอดของทั้งตนเองและของชาติ ที่จะนำมาซึ่งความมีชื่อเสียงที่เป็นอมตะนิรันดร์กาล การได้เป็นวีรบุรุษ /วีรสตรีของชาติ การมีฐานะที่มั่งคั่ง และการได้รับความยอมรับในสังคมว่า เป็นคนเก่งและดี คือเป็นผู้ที่มีจิตใจเสียสละในการฝึกฝนตนเอง เพื่อความมีชื่อเสียงของชาติ ดังนั้นนักกีฬาหลายคนจึงใช้วิธีคิดว่า ถ้าไม่ได้ชัยชนะด้วยเล่ห์กล ก็ต้องใช้มนต์คาถา เพื่อเอาชัยชนะมาให้จงได้
แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้านักกีฬาคนนั้นถูกจับได้ว่าโกง การถูกตราหน้าว่าเป็นคนทุจริต (จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม) เขาก็จะไม่มีที่ยืนในสังคมไปจนตลอดชีวิต เพราะได้นำความเสื่อมเสียมาสู่ชาติบ้านเมือง อย่างที่ไม่มีใครจะให้อภัย
เพราะเหตุว่า Kamila Valieva ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ดังนั้นการสอบสวนเรื่องนี้จึงเพ่งเล็งไปที่โค้ชและผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดของเธอ โดยได้เน้นว่า ในร่างกายของเธอมีสาร trimetazidine (TMZ) ซึ่งตามปกติเป็นยาที่แพทย์ใช้รักษาโรคหัวใจ เพราะสามารถช่วยให้เลือดไหลในร่างกายได้สะดวก แต่สาร TMZ เป็นสารต้องห้ามที่ทาง World Anti-Doping Agency (WADA) หรือองค์การต่อต้านสารกระตุ้นของโลกได้กำหนดห้ามไว้ เพราะได้พบว่า นักกีฬาที่บริโภคสารนี้ จะช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้ดี สามารถสูบฉีดเลือดได้ติดต่อกันเป็นเวลานาน นักกีฬาจึงมีกำลังและพลังดีที่ไม่มีวันตก ผลการตรวจเลือดและปัสสาวะของ Valieva ยังได้พบสารอีก 2 ชนิดที่ช่วยให้เลือดในร่างกายเธอไหลได้ดีขึ้นด้วย
แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้านักกีฬาคนนั้นถูกจับได้ว่าโกง การถูกตราหน้าว่าเป็นคนทุจริต (จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม) เขาก็จะไม่มีที่ยืนในสังคมไปจนตลอดชีวิต เพราะได้นำความเสื่อมเสียมาสู่ชาติบ้านเมือง อย่างที่ไม่มีใครจะให้อภัย
เพราะเหตุว่า Kamila Valieva ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ดังนั้นการสอบสวนเรื่องนี้จึงเพ่งเล็งไปที่โค้ชและผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดของเธอ โดยได้เน้นว่า ในร่างกายของเธอมีสาร trimetazidine (TMZ) ซึ่งตามปกติเป็นยาที่แพทย์ใช้รักษาโรคหัวใจ เพราะสามารถช่วยให้เลือดไหลในร่างกายได้สะดวก แต่สาร TMZ เป็นสารต้องห้ามที่ทาง World Anti-Doping Agency (WADA) หรือองค์การต่อต้านสารกระตุ้นของโลกได้กำหนดห้ามไว้ เพราะได้พบว่า นักกีฬาที่บริโภคสารนี้ จะช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้ดี สามารถสูบฉีดเลือดได้ติดต่อกันเป็นเวลานาน นักกีฬาจึงมีกำลังและพลังดีที่ไม่มีวันตก ผลการตรวจเลือดและปัสสาวะของ Valieva ยังได้พบสารอีก 2 ชนิดที่ช่วยให้เลือดในร่างกายเธอไหลได้ดีขึ้นด้วย
ในคำชี้แจงสำหรับเรื่องนี้ Valieva ได้อ้างว่า เธออาจได้รับสาร TMZ เข้าร่างกาย จากการใช้แก้วน้ำร่วมกับปู่ ซึ่งเป็นโรคหัวใจและต้องบริโภค TMZ เป็นประจำ เหตุผลนี้เป็นเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญของ WADA รับไม่ได้ แต่ที่คนทั่วไปรับไม่ได้ยิ่งกว่านั้นก็คือ การที่คณะกรรมการโอลิมปิกฤดูหนาวยินยอมให้ Valieva เข้าแข่งขัน ทั้ง ๆ ที่เธอถูกกล่าวหาในหลายประเด็น เพราะหลายคนคิดว่า ถ้าคณะกรรมการโอลิมปิกไม่มีความเด็ดขาดในเรื่องนี้ การใช้ยากระตุ้นของนักกีฬาจะไม่มีวันหมดไปจากวงการ
ความจริงประเด็นการใช้ยาโด๊ปในกีฬาโอลิมปิกได้มีมาเป็นเวลานานแล้ว ตั้งแต่ที่ได้มีการพบว่า ในการแข่งขันมาราธอน เมื่อปี 1904 ที่เมือง St. Louis ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง Thomas Hicks ได้เป็นผู้ชนะในการแข่งขันครั้งนั้น แต่ขณะวิ่งถึงเส้นชัย เขาก็เป็นลมหมดสติ จนแพทย์ 4 คน ต้องเข้ามาทำพิธีปฐมพยาบาล เพราะชีพจรและสภาพร่างกายทุกส่วนของ Hicks อยู่ในสภาพร่อแร่ จนต้องใช้เวลานานถึงหนึ่งชั่วโมง Hicks จึงคืนสติ แต่ก็ยังยืนตรงไม่ได้ และสายตาก็ยังเหม่อลอย เขาจึงถูกนำตัวขึ้นรถยนต์ เพื่อไปพักฟื้นที่สมาคม Missouri Athletic
ในการแข่งมาราธอนครั้งนั้น จำนวนผู้เข้าแข่งขันมากกว่าครึ่งไม่สามารถวิ่งได้ถึงเส้นชัย เพราะนักวิ่งส่วนใหญ่แพ้แสงแดด ที่ในวันนั้นแม้ในที่ร่มก็มีอุณหภูมิสูงถึง 32 องศาเซลเซียส และตลอดเส้นทางก็มีฝุ่นปริมาณมาก แต่การที่ Hicks ชนะ เพราะครูฝึกชื่อ Charles Lucas ได้เชื่อมั่นว่า บรั่นดีกับ strychnine (ที่ใช้ฆ่าหนู) เป็นสารกระตุ้นที่มีพลัง จึงได้นั่งรถตาม Hicks และคอยเติม “พลัง” ให้ Hicks ตลอดเส้นทาง
เมื่อ Hicks ชนะ Lucas ก็ยิ่งมั่นใจว่า ยากระตุ้นมีประโยชน์ต่อสมรรถภาพของนักกีฬา และได้แถลงความเชื่อนี้ต่อสื่อว่า Hicks ชนะคนที่เก่งกว่า เพราะมีวิธีดูแลร่างกายที่ดีกว่า
ความจริงในปี 1904 ทั้งแอลกอฮอล์ และ strychnine ต่างก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นสารกระตุ้น เพราะแอลกอฮอล์สามารถลดอาการซึมเศร้าได้ ทำให้เลือดและออกซิเจนไหลสู่กล้ามเนื้อในร่างกายได้ช้าลง ลดกำลังวังชา ความเร็ว และความอดทนของร่างกาย ในภาพรวมบรั่นดีจึงเป็นสารที่ไม่กระตุ้น และ strychnine ก็เป็นสารอันตราย เพราะนิยมใช้เป็นยาเบื่อหนู แพทย์จึงใช้ strychnine ในปริมาณน้อยนิด เพื่อกระตุ้นการไหลของเลือดในร่างกาย และเพิ่มอาการหิวอาหาร แต่จะไม่ใช้มาก นอกจากนี้ ก็ได้พบว่าสารนี้จะทำลายการทำงานของ glycine ซึ่งจะมีผลทำให้เนื้อเยื่อประสาทไขสันหลังมีอาการชักและกระตุกได้ ดังนั้นจึงไม่สมควรที่จะใช้เป็นสารกระตุ้น เพราะจะทำให้เซลล์กล้ามเนื้อทุกส่วนทำงานอย่างปั่นป่วน แทนที่จะช่วยให้การทำงานเป็นระเบียบ มันจึงลดสมรรถภาพของกล้ามเนื้อ ทำให้ไม่เป็นผลดีต่อนักกีฬา นอกจากนี้ถ้าใช้มากถึง 2 มิลลิกรัม ก็จะกลายเป็นยาพิษภายในเวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้นเอง นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ Hicks หมดสติ เมื่อสิ้นสุดการแข่งขัน และถ้า Lucas ให้ strychnine แก่ Hicks มากกว่านั้น Hicks ก็จะไม่มีโอกาสได้วิ่งอีกเลย
ตลอดเวลาที่ผ่านมาร่วม 100 ปี ในการแข่งขันกีฬานานาชาติ เรามักได้ยินข่าวนักกีฬาหลายคนแอบใช้สารกระตุ้น และคนที่โด่งดังมากที่สุดคนหนึ่ง คือ Ben Johnson ซึ่งเป็นนักกรีฑาชาวแคนาดา เชื้อชาติ Jamaica ซึ่งได้แสดงให้เห็นอิทธิฤทธิ์ของสารกระตุ้นในการวิ่งระยะทาง 100 เมตร ในกีฬาโอลิมปิกที่กรุง Seoul ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี 1988 ด้วยการทำสถิติโลก 9.79 วินาที และชนะคนที่สองเป็นระยะทางถึง 1.5 เมตร (คือ แบบขาดลอย) ผลการตรวจปัสสาวะและเลือดของ Johnson แสดงให้เห็นว่า เขาใช้สารกระตุ้นจริง ดังนั้นชัยชนะของ Johnson จึงถือเป็นโมฆะ แต่ Johnson ก็ได้ประท้วงโดยอ้างว่า เขาได้ดื่มยาสมุนไพรก่อนเข้าแข่งขัน และมีคนแอบใส่ยากระตุ้นในเครื่องดื่ม แต่ศาลไม่รับฟังข้อแก้ตัว เหรียญทองในการแข่งขันครั้งนั้นจึงตกเป็นของ Carl Lewis แห่งสหรัฐอเมริกา
ในเวลาต่อมา เพื่อเป็นการลงโทษผู้ละเมิดกฎการใช้สารกระตุ้น องค์การ International Association of Athletics Federations (IAAF) จึงออกคำสั่งห้าม Johnson ลงแข่งขันกรีฑาทุกประเภทเป็นเวลา 2 ปี คำตัดสินนี้ได้เกิดขึ้นหลังจากที่ครูฝึกของ Johnson ชื่อ Charles Francis ได้ออกมายอมรับว่า Johnson ได้แอบใช้สารกระตุ้น steroid มานานตั้งแต่ปี 1981
ผลที่ตามมา คือ สถิติต่าง ๆ ที่ Johnson ได้สร้างไว้ ตั้งแต่ปี 1981 ถูกลบล้างหมด และ Johnson ก็ได้หวนกลับมาวิ่งอีกครั้งหนึ่งในปี 1993 แต่คณะกรรมการตรวจสอบก็ พบว่า Johnson ยังใช้ยา steroid อีก เขาจึงถูก IAAF สั่งห้ามลงแข่งขันไปจนตลอดชีวิต
นอกจาก Johnson แล้ว ก็ยังมี Lance Armstrong ซึ่งได้เป็นแชมป์ Tour de France ถึง 7 สมัย ตั้งแต่ปี 1999-2005 และได้ป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ก็ได้รับการรักษาจนหาย เวลาแข่งจักรยาน Armstrong ก็ได้ใช้สารกระตุ้น steroid มาโดยตลอด เขาจึงถูกแบนห้ามเข้าแข่งจักรยานเช่นกัน
ในอดีตเมื่อ 20 ปีก่อนนี้ วงการกีฬาแทบไม่มีใครที่รู้จักสาร nandrolone เลย นอกจากนักกรีฑาระดับสุดยอด เช่น Linford Christie ชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก ปี 1992 ในการวิ่ง 100 เมตร ที่กรุง Barcelona ในประเทศสเปน ก็ได้ใช้สารนี้ เพราะเชื่อว่า มีคุณค่าทางอาหาร แต่แพทย์รู้ดีว่า nandrolone เป็นสาร steroid สังเคราะห์อีกชนิดหนึ่ง ดังนั้นจึงได้ห้ามไม่ให้ใครกินเวลาเข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ตามปกติในการตรวจหาสารชนิดนี้ เขามักใช้เทคโนโลยี mass spectrometry เพื่อตรวจหา 19-nandrosterone ซึ่งเป็น nandrolone ชนิด metabolic ที่จะถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ แม้จะมีในปริมาณน้อยนิด แต่อุปกรณ์ก็สามารถตรวจพบได้ ความยุ่งยากก็ยังมีอีก เพราะธรรมชาติเอง คือ ร่างกายคนก็สามารถผลิต 19-nandrosterone ได้ ดังนั้นจึงต้องมีการแบ่งแยกว่า สารนี้ส่วนใดบ้างที่เกิดจากธรรมชาติ และส่วนใดบ้างที่เกิดจากการบริโภค ในที่สุด IAAF ก็ได้กำหนดเกณฑ์ว่า ในกรณีนักกีฬาชาย ปริมาณ19-nandrosterone จะต้องไม่เกิน 2 นาโนกรัม/1 มิลลิลิตร และในกรณีผู้หญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ ตัวเลขจะต้องไม่เกิน 5 ng/ml
การตรวจพบว่ามีสารต้องห้ามในปัสสาวะของ Christie มากถึง 200 ng/ml ทำให้ IAAF ยืนยันว่า ร่างกายของ Christie มีสารกระตุ้นจริงและมากด้วย ส่วนประเด็นที่ว่าสารดังกล่าวเข้าไปอยู่ในร่างกายของเขาได้อย่างไรนั้น เป็นงานที่อยู่นอกขอบเขตความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ
ปัจจุบัน Christie ได้เกษียณจากการแข่งขันกรีฑาแล้ว และประกอบอาชีพเป็นโค้ชกรีฑาอยู่ที่ประเทศโปรตุเกส
ประวัติศาสตร์ได้มีเรื่องเล่าที่เป็นนิทานและตำนานเกี่ยวกับความพยายามแสวงหายา หรือสารมากระตุ้นให้ร่างกายมีสมรรถภาพสูงกว่าปกติเป็นเวลานานแล้ว เช่น ชาวอินเดียนแดงในทวีปอเมริกาเหนือเชื่อว่า ใครที่สามารถจับผีเสื้อ monarch ได้ในฤดูร้อน แล้วละเลงละอองที่อยู่ตามปีกของผีเสื้อลงที่ตัว เขาก็จะสามารถวิ่งได้เร็ว และคล่องแคล่วเหมือนผีเสื้อตัวนั้น
ในอาณาจักรโรมันโบราณที่ Colosseum เวลามีการต่อสู้ระหว่างสัตว์ป่าที่ดุร้ายกับนักต่อสู้ (gladiator) เขามักให้นักต่อสู้กินเนื้อดิบของสัตว์ที่เขาจะต้องฆ่า เพื่อจะได้มีพลังมากเหมือนสัตว์ชนิดนั้น
ในสนามมวยปล้ำของประเทศกรีซโบราณ คนที่มาดูกีฬามักชอบสูดดมเสื้อชุ่มเหงื่อที่หลั่งออกมาจากร่างกายของนักมวยปล้ำ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ตนแข็งแรง และกล้าหาญเหมือนนักมวยปล้ำที่ตนชื่นชอบ
ในทวีปอเมริกาใต้ยุค Columbus (คริสต์ศตวรรษที่ 15-16) หมอผีชาวอินเดียน มักใช้พืชสมุนไพรรักษาคนไข้ และประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ดังที่ Hernán Cortés ได้เคยพบว่าเชลยชาวอินเดียนที่เขาจับได้ มักเคี้ยวพืชชนิดหนึ่งชื่อ peyotl เพื่อให้มีพลังในการเดินทางไกล ชาวอินเดียนแดงที่อาศัยอยู่บนเทือกเขา Andes ในประเทศ Bolivia , Peru , Ecuador และ Colombia ชอบเคี้ยวใบของต้น Erythroxylon coca เพื่อลดอาการหิว และขจัดความอ่อนล้าของร่างกาย ความนิยมนี้ได้ทำให้ใบโคคาในเวลานั้นกลายเป็นธนบัตรที่รู้จักกันในนาม cocada
ในสงครามโลกครั้งที่สอง (ปี 1939-1945) ทหารที่อยู่ในสนามรบทุกคนมักพกยาพลังเสริม เพื่อไม่ให้รู้สึกอ่อนล้า แม้แต่ในสงครามเวียดนาม ทหารอเมริกันก็นิยมบริโภคกัญชาเป็นยากระตุ้นเช่นกัน
ไม่มีใครรู้ชัดว่า วงการกีฬาใดได้เริ่มใช้ยากระตุ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่ทุกคนก็รู้ว่านักกีฬาได้พยายามหายามาเสริมสมรรถภาพทางกายและใจของตนมาเป็นเวลานานแล้ว และเมื่อวิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้ามากขึ้น การพัฒนายาที่นำมาใช้ก็ยิ่งก้าวหน้าและลึกซึ้งยิ่งขึ้น เช่น ใช้สาร amphetamine ที่เภสัชกรได้พบในปี 1887 ว่าสามารถทำให้คนบริโภคมีสมาธิดีขึ้น และลดอาการอ้วนผิดปกติได้ รวมถึงรักษาอาการ narcolepsy ที่ทำให้คนง่วงหลับ โดยไม่เลือกเวลาและสถานที่ก็ได้ เป็นต้น
คงเป็นที่ยอมรับว่า นักกีฬาทุกคนต้องการความมั่นใจ แรงจูงใจ และความต้องการที่จะเอาชนะ ทุกครั้งที่เข้าแข่งขัน และพบว่าการใช้วิตามินหรือยาฉีดจะให้ผลดีมาก ถ้าคนกินยามั่นใจว่า มันจะให้ผลดี และเมื่อนักกีฬามีความมั่นใจมาก คู่ต่อสู้ก็อาจจะเสียกำลังใจได้ ดังที่นักกรีฑาบางคน ก่อนจะออกวิ่ง ได้กลืน “ยา” ที่ไม่มีสารกระตุ้นอะไรเลยเข้าปาก และการได้เห็นคู่ต่อสู้มีปัจจัยเสริมเช่นนี้ ก็จะทำให้คนที่หลอกเขา ได้รับชัยชนะตั้งแต่ยังไม่ทันออกวิ่งเลย
ตามปกติผลลัพธ์ในการแข่งขันกีฬาขึ้นกับปัจจัยหลายประการ เช่น สภาพร่างกายของนักกีฬา คุณภาพของการฝึก ความเชี่ยวชาญในการเล่น และสภาพของจิตใจ และเมื่อถึงวันนี้ ความแตกต่างระหว่างการแพ้/ชนะ ในประเด็นเวลาและระยะทาง อาจมีค่าเป็นเศษเสี้ยวของวินาทีหรือมิลลิเมตร และความแตกต่างที่ละเอียดมากเช่นนี้ ตาเปล่าอาจไม่สังเกตเห็นได้ จึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ช่วยในการตัดสิน
ทั้งๆ ที่ Pierre de Coubertin ได้เคยกล่าวในปี 1908 ว่า จุดประสงค์หลักของการแข่งกีฬาโอลิมปิก คือ การได้เข้าร่วม มิใช่การมีชัยชนะ แต่ก็ไม่มีใครเชื่อ เพราะทุกคนมักจะคิดว่า การได้รับชัยชนะ คือ การมีทุกสิ่งทุกอย่าง และความพ่ายแพ้ คือ การสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง และความต้องการที่จะเอาชนะนี้เอง ที่ทำให้เกิดการโกง เพราะเป็นไปตามจิตสำนึกของสังคมที่จะให้สรรพสิ่ง (เงิน , ยศ , การยอมรับ ฯลฯ) เป็นรางวัลแก่คนชนะ ความต้องการนี้จึงไม่เหมือนกับจิตสำนึกของการแข่งขันโอลิมปิกในสมัยกรีกโบราณเลย
แต่สังคมก็มักมีส่วนในการกำหนดพฤติกรรมการใช้ยาของนักกีฬาด้วย เช่น มีการเรียกร้องหรือขอร้องจากเพื่อนร่วมทีม จากสมาคมหรือญาติ ให้นักกีฬาเพิ่มความสามารถของตนเองให้สูงขึ้น และเพื่อให้ความต้องการนี้บรรลุผล นักกีฬาจึงแอบใช้สารกระตุ้น และมักอ้างว่าผลกระทบจากการใช้ยาไม่ได้ทำให้ร่างกายของเขาเป็นอันตราย หรือได้ใช้ยาไปอย่างไม่รู้ตัว
แต่การแข่งขันกีฬานั้น เป็นการแข่งขันด้านความสามารถของนักกีฬาที่ต้องมีความบริสุทธิ์ คือ ปราศจากการใช้สารเสริมหรือสารกระตุ้นใดๆ ดังนั้น การตรวจจับกระบวนการโกง ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ที่รัดกุม ถูกต้อง และไม่เอนเอียงภายใต้อิทธิพลใด ๆ จึงเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้การแข่งขันกีฬามีความบริสุทธิ์จริงๆ
อ่านเพิ่มเติม Dying to Win: Doping in Sport and the Development of Anti-Doping Policy. โดย Barrie Houlihan จัดพิมพ์โดย Council of Europe Publishing ปี 2009
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน – ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ “โลกวิทยาการ” ได้ทุกวันศุกร์